หยุดหายใจขณะหลับ (SLEEP APNEA) ร่วมกับนอนกรน โรคเสี่ยงตาย!

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

หยุดหายใจขณะหลับ จากการอุดกั้น (OBSTRUCTIVE SLEEP APNEA : OSA) และมีอาการนอนกรนร่วมด้วย อาการนอนกรน หรือภาษาอังกฤษ เรียกว่า snoring และภาวะ หยุดหายใจขณะหลับ (obstructive sleep apnea : OSA) เป็นปัญหาและโรคของการนอนหลับที่พบบ่อย ในคนอายุ 30-35 ปี  โดยจะพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และเมื่ออายุมากขึ้น อาการนอนกรนก็จะเพิ่มขึ้นตามอายุอีกด้วย รวมถึงในกลุ่มคนที่น้ำหนักตัวมาก ก็พบได้บ่อยเช่นเดียวกัน

นอนกรนเสียงดัง อาจเป็นสัญญาณอันตรายบางอย่างที่บ่งบอกว่าการหายใจของคุณนั้นผิดปกติ เพราะเสียงกรนนั้นแสดงถึงการหายใจผ่านช่องคอที่แคบ ยิ่งเสียงกรนดัง ก็หมายถึงการพยายามดันอากาศให้ผ่านช่องที่แคบมากๆ ซึ่งอาการนี้เป็นอาการสำคัญของภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (OSA) ซึ่งพบได้ประมาณร้อยละ 4 ในเพศชายและร้อยละ 2 ในเพศหญิง

อาการ นอนกรน (snoring) เกิดจากอะไร

อาการนอนกรนมี 2 ระดับ คือ การนอนกรนธรรมดา (Primary Snoring) ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อตัวผู้ป่วย แต่จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสังคม กับ การนอนกรนที่มีภาวะ หยุดหายใจขณะหลับ ร่วมด้วย ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ป่วยโดยตรง อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการมีภาวะแทรกซ้อนของโรคอื่นๆ มาตามอีกด้วย

เป็นอาการที่บ่งบอกถึงการอุดกั้นในทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งมีความสัมพันธ์โดยตรงต่อภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งภาวะหยุดหายใจขณะหลับนี้เป็นภาวะที่มีการอุดกั้นในทางเดินหายใจมากจนทำให้เกิดการหยุดหายใจเป็นช่วงๆ ขณะที่กำลังนอนหลับ ส่งผลกระทบที่สำคัญต่อสุขภาพ คือเมื่อเกิดการหยุดหายใจขณะหลับ จะทำให้มีการสะดุ้งตื่นเป็นช่วงๆ ทำให้ผู้ป่วยนอนหลับได้ไม่สนิท หลับได้ไม่เต็มที่ตลอดทั้งคืน

ดังนั้นคนที่มีภาวะนี้จะมีอาการง่วงมากผิดปกติในเวลากลางวัน (excessive daytime sleepiness) และมีแนวโน้มที่จะเกิดอุบัติเหตุในท้องถนน  และในโรงงานอุตสาหกรรมได้ง่ายเมื่อเทียบกับคนปกติ เนื่องจากการหลับในขณะขับขี่รถ และขณะทำงานกับเครื่องจักรกล

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ อาการเป็นอย่างไร

นอกจากนี้ก็ยังพบว่าผู้ป่วยที่มี ภาวะ หยุดหายใจขณะหลับ (OBSTRUCTIVE SLEEP APNEA) นั้นมีอัตราเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคอื่นๆ หลายโรค ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง, กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากการขาดเลือด, ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ,โรคของหลอดเลือดในสมอง ตลอดจนการมีสมรรถภาพทางเพศที่เสื่อมลง

ผู้ป่วยที่มีอาการนอนกรนอย่างเดียวโดยไม่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วยนั้น (primary snoring) ถึงแม้ไม่มีผลกระทบมากนักต่อสุขภาพของตนเอง  แต่จะมีผลกระทบต่อสังคมและคุณภาพชีวิตของผู้อื่น โดยเฉพาะกับคู่นอน เนื่องจากทำให้ผู้อื่นนอนหลับยากไปด้วย  ดังนั้นผู้ที่มีอาการนอนกรนและ/หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับจำเป็นที่ต้องให้แพทย์ตรวจวินิจฉัย และให้การรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม

กลับสู่สารบัญ

อาการนอนกรน เกิดขึ้นได้อย่างไร?

1. เกิดจากการผ่อนคลายหรือหย่อนตัวของกล้ามเนื้อทางเดินหายใจส่วนบนขณะนอนหลับ เช่น กล้ามเนื้อบริเวณเพดานอ่อน (soft palate), ลิ้นไก่ (uvula), ผนังคอหอย (pharyngeal wall) หรือโคนลิ้น (tongue base) และเมื่ออวัยวะเหล่านี้หย่อนลงมาทำให้เวลาหายใจ อากาศจะเคลื่อนผ่านทางเดินหายใจที่แคบลง เป็นผลให้เกิดการสั่นสะเทือนและสะบัดของกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่ออ่อนในบริเวณดังกล่าวเกิดเป็นเสียงกรนขึ้น

2. ต่อมทอนซิล และต่อมอดีนอยด์ (adenoid) ที่อยู่ในลำคอโตมีขนาดโตขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการนอนกรนที่สำคัญในเด็ก เนื่องจากทำให้เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบนเกิดเป็นเสียงกรน

3. ผู้ป่วยที่อ้วนมาก อาจมีเนื้อเยื่อผนังคอที่หนา ก็ทำให้ทางเดินหายใจแคบลง

4. ผู้ป่วยที่มีเนื้องอก หรือซีสต์ (cyst) ของอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งในระบบทางเดินหายใจส่วนบนก็ก่อให้เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจได้เช่นกัน

5. การที่มีโพรงจมูกอุดตัน ซึ่งมีสาเหตุจากหลายกรณี เช่น อาการคัดจมูกจากโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้, ความผิดปกติของผนังกั้นช่องจมูก, เนื้องอกในจมูกและโพรงอากาศข้างจมูก, ริดสีดวงจมูก, ไซนัสอักเสบ เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการนอนกรนได้เช่นกัน

6. การดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ (alcohol) การกินยานอนหลับ ยาแก้แพ้ชนิดง่วง ก็จะช่วยเสริมทำให้กล้ามเนื้อมีการคลายตัวมากขึ้น และอาจมีการอุดกั้นทางเดินหายใจมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้มีเสียงกรนดังขึ้น

ดังนั้นอาการนอนกรนจึงไม่ใช่เรื่องปกติ  ในทางตรงกันข้ามเป็นตัวบ่งบอกว่ามีการอุดกั้นในระบบทางเดินหายใจส่วนบน

หยุดหายใจขณะหลับ อันตรายอย่างไร
กลับสู่สารบัญ

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เกิดขึ้นได้อย่างไร? 

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (OBSTRUCTIVE SLEEP APNEA : OSA) นั้นเกิดขึ้นจากการตีบแคบของทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้ต้องหายใจเข้ามากขึ้นเพื่อเอาชนะทางเดินหายใจที่ตีบแคบ

ความดันที่เป็นลบเพิ่มมากขึ้นระหว่างการหายใจเข้าจะทำให้ช่องคอตีบแคบลงกว่าเดิม ทำให้มีการขาดจังหวะในการหายใจได้บ่อยครั้งและแต่ละครั้งนานกว่าคนปกติ

ถ้ามีการหยุดหายใจหลายครั้งในขณะนอนหลับก็จะส่งผลให้ระดับความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดลดน้อยลง ซึ่งสมองก็จะได้รับออกซิเจนน้อยลงไปด้วย เมื่อสมองขาดออกซิเจนก็จะต้องคอยปลุกให้ผู้ป่วยตื่นเพื่อเริ่มหายใจใหม่

และเมื่อสมองได้รับออกซิเจนเพียงพอแล้ว ผู้ป่วยก็จะสามารถหลับลึกได้อีกครั้ง แต่ต่อมาการหายใจก็จะเริ่มขัดขึ้นอีก สมองก็ต้องปลุกตัวเองให้ตื่นขึ้นใหม่ วนเวียนเช่นนี้ตลอดคืน เป็นผลให้ผู้ป่วยนอนหลับได้ไม่เต็มที่

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ นอนกรน เกิดขึนได้อย่างไร
กลับสู่สารบัญ

อาการนอนกรน และมีภาวะ หยุดหายใจขณะหลับ ระดับไหน ที่ควรปรึกษาแพทย์?

ถ้าเรามี อาการนอนกรน เพียงอย่างเดียวก็ไม่ได้ถือว่าเป็นโรค แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่อาการนอนกรนทำให้เกิดปัญหาต่อคู่นอน สมาชิกในครอบครัว หรือมีผลต่อสังคมและคุณภาพชีวิตของบุคคลนั้นแล้ว ก็มีความจำเป็นที่ต้องมาปรึกษาแพทย์ ยิ่งถ้ามีอาการนอนกรน ร่วมกับมีหยุดหายใจขณะหลับ ยิ่งมีความจำเป็นที่จะต้องมาพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุของโรค

โดยแพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกาย และมีการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เพื่อที่จะได้รับการรักษาที่ถูกต้อง และถ้าได้รับการรักษาตั้งแต่ที่ยังมีอาการไม่มาก ก็จะช่วยลดความเสี่ยงและอันตรายที่จะเกิดกับอวัยวะและระบบต่างๆที่สำคัญของร่างกายได้  ดังนั้นเมื่อคุณมีอาการดังต่อไปนี้ ซึ่งบ่งบอกถึงการมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ควรรีบมาปรึกษาแพทย์

  1. เวลาตื่นนอนมาในตอนเช้าจะรู้สึกอ่อนเพลีย ไม่สดชื่น ยังอยากนอนต่อ รู้สึกว่านอนหลับไม่เต็มอิ่ม มีความรู้สึกเหมือนว่าไม่ได้หลับนอนมาทั้งคืน
  2. ในเวลากลางวันจะมีอาการง่วงนอน จนไม่สามารถจะทำงานต่อได้ หรือมีอาการเผลอหลับในขณะทำงาน หรือเข้าเรียน
  3. ขณะหลับจะมีอาการหายใจติดขัด หายใจไม่ออก หรือหายใจไม่สะดวกขณะนอนหลับ อาจมีอาการคล้ายสำลักน้ำลาย สะดุ้งผวา หรือ หายใจแรงเหมือนขาดอากาศหลังจากหยุดหายใจ
  4. นอนหลับไม่สนิท ฝันร้ายหรือละเมอขณะหลับ นอนกระสับกระส่ายมาก
  5. มีความดันโลหิตสูงซึ่งยังหาสาเหตุได้ไม่ชัดเจน
  6. พัฒนาการทางสมองและสติปัญญา และความจำแย่ลง
  7. บุคลิกภาพหรือสมาธิเปลี่ยนไป หลงลืมบ่อย หงุดหงิดง่ายกว่าปกติ
  8. รู้สึกคอแห้งหรือเจ็บคอเมื่อตื่นนอน
  9. ปวดศีรษะหลังตื่นนอนตอนเช้า
  10. ความรู้สึกทางเพศลดลง
กลับสู่สารบัญ

การวินิจฉัยโรค หยุดหายใจขณะหลับ

แพทย์จะวินิจฉัยภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากอาการของผู้ป่วย ตรวจร่างกายหาความผิดปกติของเนื้อเยื่อที่บริเวณลำคอ ปาก และจมูก วัดความหนาของลำคอ รอบเอว และความดันโลหิต รวมถึงทำการทดสอบอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น

การตรวจการนอนหลับ (polysomnography, PSG) หรือ sleep test

เป็นการตรวจที่มีความสำคัญมากในการวินิจฉัย และบอกความรุนแรงของ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (OSA)โดยช่วยวินิจฉัยแยกภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการนอนกรนธรรมดา และสามารถบอกคุณภาพของการนอนหลับว่าหลับได้ดีหรือไม่  มีความผิดปกติเกิดขึ้นในขณะนอนหลับหรือไม่ การตรวจการนอนหลับจะใช้เวลาตรวจช่วงกลางคืนอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเวลาปกติของการนอนหลับในคนทั่วไป

โดยจะมีการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับ คลื่นไฟฟ้าสมอง การเคลื่อนไหวของลูกตา การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ การเต้นของหัวใจ ลักษณะการหายใจ รวมถึงปริมาณออกซิเจนในเลือดโดยการติดขั้วโลหะ (Electrode) ที่บริเวณศีรษะและใบหน้า และเซ็นเซอร์ที่จมูก ขา หน้าอก และหน้าท้อง เพื่อใช้ในการวินิจฉัยและประเมินความรุนแรงของภาวะการหยุดหายใจขณะนอนหลับ

ทดสอบ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ - sleep test
กลับสู่สารบัญ

ทางเลือกในการรักษาอาการนอนกรน (snoring) และ หยุดหายใจขณะหลับ (Sleep Apnea)

การรักษาโดยวิธีไม่ผ่าตัด (non-surgical treatment)

  1. ปรับพฤติกรรม ลดน้ำหนัก โดยการควบคุมอาหาร และควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและเพิ่มความกระชับและความตึงตัวให้กับกล้ามเนื้อของทางเดินหายใจส่วนบน หรือถ้าน้ำหนักตัวมากๆ มีดัชนีมวลกาย (BMI) มากกว่า 35 มีโรคร่วมที่เกิดจากโรคอ้วนร่วมด้วย เนื่องจากน้ำหนักตัวมากเกินไป เช่น เบาหวาน, ความดัน, หยุดหายใจขณะหลับ พยายามลดด้วยการปรับพฤติกรรมแล้วแต่ยังไม่ได้ผล การผ่าตัดกระเพาะ ลดความอ้วน (bariatric surgery) ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยในการลดน้ำหนัก
  2. หลีกเลี่ยงยาหรือเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง เช่น เครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์ ยานอนหลับ ยาต้านฮีสตามีน (antihistamine) เมลาโทนิน หรือยาแก้แพ้ ชนิดที่ทำให้ง่วง โดยเฉพาะก่อนนอน
  3. การปรับเปลี่ยนท่าทางในการนอน ปรับเป็นท่านอนตะแคง จะทำให้เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจน้อยกว่าการนอนหงาย
  4. การใช้เครื่องมือช่วยให้ทางเดินหายใจกว้างขึ้น หรือไม่อุดกั้นขณะนอนหลับที่เรียกว่า continuous positive airway pressure (CPAP) เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการของภาวะหยุดหายใจขณะหลับที่รุนแรงและไม่เหมาะที่จะรักษาด้วยการผ่าตัด โดยเป็นการนำหน้ากาก (mask) ครอบจมูกขณะนอนหลับ ซึ่งหน้ากากนี้จะต่อเข้ากับเครื่องที่สามารถขับลมซึ่งมีแรงดันเป็นบวกออกมา ลมที่ขับออกมาขณะนอนหลับจะช่วยค้ำยัน (pneumatic splint) ไม่ให้ทางเดินหายใจเกิดการอุดกั้นขณะหายใจเข้า ซึ่งเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดในปัจจุบัน
  5. การใช้อุปกรณ์ทางทันตกรรม/ช่องปาก (Mandibular advancement devices, MAD) สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับไม่รุนแรง การใช้ MAD จะช่วยดึงกรามล่างมาด้านหน้าเพื่อทำให้ช่องทางเดินหายใจด้านหลังกว้างขึ้นในขณะที่ผู้ป่วยนอนหลับได้
  6. การใช้เออร์เบียมแย็กเลเซอร์ (Erbium: YAG laser) ด้วยนวัตกรรมการใช้เลเซอร์ในปัจจุบัน ทำให้การรักษานอนกรนเป็นเรื่องง่ายขึ้นมาก มีขั้นตอนการดำเนินการที่ไม่ซับซ้อน ไม่อันตราย ราคาไม่แพง ถ้าเป็นสมัยก่อนก็จะมีแต่การผ่าตัดเพื่อให้เกิดผังผืดยึดขึ้น หรือตัดลิ้นไก่เท่านั้น ซึ่งค่อนข้างอันตรายและต้องใช้ระยะเวลาพักพื้นกว่าแผลจะหายและรับประทานอาหารได้ปกติ การใช้พลังงานความร้อนจากเลเซอร์ ที่ปรับค่าพลังงานเหมาะสมจนทำให้กล้ามเนื้อและเยื่อบุเพดานอ่อนสามารถหดตัวขึ้นจนยกลิ้นไก่ให้สูงลอยขึ้นได้ จึงทำให้ช่องทางเดินอากาศกว้างมากขึ้น ช่วยให้การหายใจโล่งขึ้น และลดอันตรายจากภาวะการขาดอากาศหายใจชั่วขณะ

กลับสู่สารบัญ

การรักษาอาการนอนกรน และภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ด้วยการผ่าตัด

มีการผ่าตัดได้หลายวิธี ขึ้นกับระดับความรุนแรงและอวัยวะที่ทำให้เกิดการอุดกั้นขณะนอนหลับ ซึ่งจะพิจารณาร่วมกับแพทย์ผู้ดูแลรักษา

  1. Somnoplasty เป็นวิธีการรักษาโดยการใช้คลื่นความถี่ จี้ความร้อนเข้าไปใต้เนื้อเยื่ออ่อนบริเวณเพดานปาก หรือลิ้นไก่ เพื่อเพิ่มทางเดินหายใจ
  2. การผ่าตัดต่อมทอนซิล (tonsillectomy) ทำในรายที่มีต่อมทอนซิลโตมาก จนอุดกั้นทางเดินหายใจโดยเฉพาะในเด็ก ในรายที่มีต่อมทอนซิลที่โคนลิ้นโตมาก ก็อาจใช้แสงเลเซอร์ตัดออกได้ การผ่าตัดนี้เป็นการผ่าตัดที่อาศัยการดมยาสลบ
  3. Uvulopalatopharyngoplasty (UPPP) คือ การผ่าตัดตกแต่งกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่ออ่อนบริเวณเพดานอ่อน ลิ้นไก่ ผนังคอหอยให้ตึงและกระชับขึ้น เพื่อเปิดทางเดินหายใจส่วนบนให้กว้างมากขึ้น เป็นการผ่าตัดที่นิยมทำในการรักษาภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ โดยเป็นการผ่าตัดที่เอาต่อมทอนซิล ลิ้นไก่ และเนื้อเยื่อที่หย่อนยาน บริเวณผนังคอหอยออก และทำให้เพดานอ่อนสั้นลง เป็นการผ่าตัดในช่องปากโดยไม่มีแผลภายนอก และอาศัยการดมยาสลบ ใช้ในรายที่มีการอุดกั้นของทางเดินหายใจอยู่ระดับเพดานอ่อน ลิ้นไก่ และคอหอย เช่น มีลิ้นไก่หรือเพดานอ่อนที่ยาว ผนังคอหอยหนาและหย่อนยาน ซึ่งการผ่าตัดจะทำให้บริเวณดังกล่าวนี้กว้างขึ้น ทำให้อาการนอนกรนและ/หรือ ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับน้อยลงหรือดีขึ้นได้
  4. Mandibular/maxillary advancement surgery คือ การผ่าตัดกระดูกขากรรไกร ซึ่งจะทำในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับที่มีความผิดปกติของกระดูกใบหน้ามาก
  5. Nasal surgery คือ การผ่าตัดในโพรงจมูก ซึ่งจะช่วยในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของอวัยวะดังกล่าว เช่น ผนังกั้นช่องจมูกคด (deviated nasal septum)

 อ่านบทความเพิ่มเติม 

เลเซอร์รักษานอนกรน (Snore Laser)

อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยบางรายอาการนอนกรน และภาวะหยุดหายใจขณะหลับ อาจเกิดจากหลายสาเหตุ ดังนั้นการทำผ่าตัดแก้ไขจุดใดจุดหนึ่งเพียงอย่างเดียว อาจไม่ช่วยให้อาการดีขึ้นมากนัก และการรักษาที่เหมาะสมนั้น นอกจากขึ้นกับสาเหตุที่ตรวจพบแล้ว ยังต้องพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ในผู้ป่วยแต่ละรายร่วมด้วย การให้การรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่ระยะแรก จะช่วยลดภาวะแทรกซ้อน ลดอัตราการเสียชีวิต และทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า