สิว (Acne) เป็นโรคที่พบได้บ่อย เป็นโรคที่มีการอักเสบเรื้อรังของรูขุมขนและต่อมไขมัน โดยส่วนมากมักจะเป็นบริเวณใบหน้า ลำคอ หน้าอก และหลัง ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีต่อมไขมันขนาดใหญ่อยู่หนาแน่น (seborrheic area) สิวมักจะเริ่มเป็นเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น (puberty) และมักหายไปในช่วงอายุ 30 ปี แต่บางคนก็อาจเป็นเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ จนเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดสิวและประวัติของสิวในครอบครัว ร้อยละ 85 ของผู้เป็นสิวจะเป็นชนิดไม่รุนแรง มีเพียงร้อยละ 15 ที่เป็นสิวอักเสบรุนแรง
สาเหตุของสิวเกิดจากอะไรได้บ้าง?
สิว เกิดขึ้นได้จากหลายๆ ปัจจัย ได้แก่
- เกิดจากการผลัดเซลล์ผิวที่ผิดปกติ (Follicular epidermal hyperproliferation)
การแบ่งเซลล์และการผลัดเซลล์ผิวหนังที่ผิดปกติ ในรูขนทำให้เกิดการอุดตันในท่อรูขน (microcomedone) ซึ่งมีฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) เป็นปัจจัยเสริมที่กระตุ้นให้เกิดการแบ่งตัวเพิ่มขึ้นของเซลล์ผิวหนัง เกิดภาวะชั้นผิวก่อตัวหนาขึ้นผิดปกติ (Hyperkeratosis) ในรูขุมขนและเซลล์ผิวที่ตายแล้วหลุดลอกออกได้ไม่ดีพอ อีกทั้งยังมีไขมันส่วนเกินดักจับเซลล์เหล่านี้ไว้บนผิวหนัง เซลล์ที่ตายแล้วจึงไปอุดตันต่อมไขมัน
- มีการผลิตน้ำมันออกมามากเกินไป (Excess sebum production)
มีการสร้างไขมันเพิ่มขึ้นจากต่อมไขมัน โดยมีฮอร์โมนแอนโดรเจนเป็นตัวกระตุ้น ให้มีการสร้างน้ำมันออกมามากขึ้น ซึ่งไขมันเหล่านี้ก็ยังเป็นอาหารของแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสิวหรือ P.acnes โดย P.acnes จะย่อยสลายไขมันไปเป็นอาหาร (triglyceride) กระบวนการนี้ก่อให้เกิดสารที่ทำให้เกิดการอักเสบมากขึ้นและทำให้เกิดสิวชนิดตุ่มนูนแดง (Papule)และสิวหัวหนอง (Pustule) ขึ้น
- การเพิ่มขึ้นของแบคทีเรีย P.acnes (P.acnes proliferation)
P.acnes เป็นแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่อาศัยอยู่ในรูขุมขนและต่อมไขมันอยู่แล้ว (normal flora) แต่เมื่อมีการเพิ่มขึ้นของเชื้อแบคทีเรียเหล่านี้ ก็จะเกิดหลั่งเอนไซม์ที่ทำให้สิวอุดตัน (Comedone) แตกออก และทำให้เกิดการอักเสบขึ้น
- เกิดการอักเสบ (Inflammation)
การอักเสบเกิดขึ้นจากการแตกของสิวอุดตัน (Comedone) และการเพิ่มจำนวนของเชื้อแบคทีเรีย P.acnes
ปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อการเกิดสิว
ปัจจัยที่เกิดขึ้นจากนอกร่างกายของเรา เช่น ยา ครีม และเครื่องสำอางบางชนิด สภาพแวดล้อม แสงแดด อุณหภูมิ และอาหาร ซึ่งเราสามารถป้องกันได้
- พันธุกรรม และประวัติของคนในครอบครัวมีส่วนสัมพันธ์กับการเกิดสิว และความรุนแรงของสิว
- อาหาร ยังไม่สามารถสรุปความสัมพันธ์ที่ชัดเจนระหว่างอาหารกับการเกิดสิว แต่มีแนวโน้มว่าอาหารบางชนิดอาจเป็นปัจจัยเสริม ที่ทำให้เกิดสิวในผู้ป่วยบางราย มีรายงานพบว่า อาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาล (Glycemic index) สูง หรืออาหารหวาน อาหารจำพวกแป้ง และผลิตภัณฑ์นมวัวโดยเฉพาะนมไขมันต่ำ (low fat milk) มีความสัมพันธ์กับการเกิดสิวและความรุนแรงของสิว
- การใช้เครื่องสำอาง เช่น แป้ง ครีมบางชนิด เป็นปัจจัยที่สำคัญในการเกิดสิว เนื่องจากส่วนผสมในเครื่องสำอางบางชนิดสามารถไปอุดตันรูขุมขนได้
- ยา เช่น ยาสเตียรอยด์ (Steroid) สามารถกระตุ้นให้เกิดสิวได้ หรือการใช้ยาฆ่าเชื้อ (Antibiotic) เป็นเวลานานอาจทำให้จุลินทรีย์ในลำไส้เสียหายและส่งผลต่อสุขภาพผิว รวมถึงการใช้ฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) มากเกินไปยังช่วยกระตุ้นให้เกิดสิวอักเสบรุนแรงได้ โดยเป็นผลข้างเคียงของการใช้ยาอนาบอลิก สเตียรอยด์ (Anabolic steroids) ในทางที่ผิดในกลุ่มนักเพาะกาย
บทความที่เกี่ยวข้อง
[ Pro Yellow เลเซอร์ รักษารอยแดง รอยสิว ]
สิว มีกี่ชนิด แต่ละชนิดต่างกันอย่างไร?
ส่วนใหญ่รอยโรคของสิวมักจะค่อยๆ เริ่มเป็นเมื่อเข้าสู่วันรุ่น (Puberty) บริเวณที่เป็นสิวบ่อย ได้แก่ ใบหน้า คอ หลัง และอกส่วนบน สิวที่พบมักมีหลายลักษณะร่วมกันอยู่ในบริเวณเดียวกัน (Polymorphous) ซึ่งสามารถแบ่งสิว ออกได้เป็น 2 ลักษณะคร่าวๆ คือ
- สิวชนิดไม่อักเสบ คือ สิวที่เกิดจากการอุดตันของรูขน หรือที่เรียกว่า สิวอุดตัน(Comedone) ลักษณะของสิวชนิดไม่อักเสบ มี 2 แบบ ได้แก่ สิวอุดตันชนิดหัวปิด (closed comedone) และชนิดหัวเปิด (open comedone)
- สิวอุดตันชนิดหัวปิด (closed comedone) เป็นตุ่มกลมเล็กแข็งสีขาว (whiteheads) จะเห็นชัดขึ้นเมื่อดึงผิวหนังให้ตึง หรือคลำได้นูนๆ เวลาล้างหน้า
- สิวอุดตันชนิดหัวเปิด (open comedone) เป็นตุ่มกลมเล็กแข็งคล้ายสิวอุดตันชนิดหัวปิด แต่ตรงยอดมีรูเปิด และมีก้อนสีดำอุดอยู่ (blackheads) โดยจะมองเห็นได้ชัดเจนกว่าชนิดหัวปิด
- สิวชนิดอักเสบ ได้แก่
- ตุ่มแดง (Papule) เป็นตุ่มนูนแดงแข็งมีขนาดแตกต่างกันออกไป กดเจ็บ ร้อยละ 50 ของสิวชนิดนี้ เกิดจากสิวที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า (microcomedone) ส่วนที่เหลือก็จะเกิดจากสิวอุดตัน ซึ่งเมื่อปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้รักษาก็จะเกิดการอักเสบ กลายเป็นตุ่มแดงตามมา
- ตุ่มหนอง (Pustule) มีทั้งชนิดตื้นและลึก ตุ่มแดงขนาดเล็กมีหนองที่ยอด สิวหนองชนิดตื้นมักหายได้เร็วกว่าสิวชนิดตุ่มแดง (papule) ส่วนสิวหนองชนิดลึกจะมีอาการเจ็บร่วมด้วย และพบในผู้ที่เป็นสิวรุนแรง
- ตุ่มนูนแดง (Nodule) ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 8 มิลลิเมตรขึ้นไป ภายในมีหนองปนเลือด บางครั้งอาจเป็นหลายหัวติดกันหรือมีสิวอุดตันหัวเปิด หัวดำมากกว่า 1 หัวอุดอยู่ มักพบบริเวณหลังของผู้เป็นสิวชนิดรุนแรง (acne conglobata) สิวชนิดนี้เมื่อหายไปอาจเกิดแผลเป็นตามมาได้
- ซีสต์ (Cyst) เป็นสิวขนาดใหญ่ เป็นถุงใต้ผิวหนังภายในมีหนองหรือสารเหลว ๆ คล้ายเนย มีลักษณะเป็นก้อนนูนแดงนิ่ม ภายในมีหนองปนเลือด เวลาหายแล้วมักมีแผลเป็นหลงเหลืออยู่ สิวชนิดนี้พบได้ไม่บ่อยนัก
เมื่อสิวหายอาจจะเหลือรอยแผลจากสิวได้หลายแบบ ได้แก่ รอยแดง รอยดำ แผลเป็นชนิดหลุม แผลเป็นชนิดนูน ความรุนแรงและระยะเวลาของสิวอักเสบมีผลต่อการเกิดแผลเป็นสิว การรักษาที่รวดเร็วและเหมาะสมจะช่วยป้องกันการเกิดแผลเป็นสิว
ระดับความรุนแรงของสิว
- สิวเล็กน้อย (mild acne) ส่วนใหญ่จะเป็นสิวอุดตัน หรือมีสิวอักเสบที่เป็นสิวตุ่มแดง ตุ่มหนองเล็กๆ ได้ แต่ไม่เกิน 10 จุด
- สิวรุนแรงปานกลาง (moderate acne) ส่วนมากจะเป็นสิวตุ่มแดงและตุ่มหนองเกิน 10 จุด ร่วมกับมี สิวตุ่มนูนแดงใหญ่ๆ
- สิวรุนแรงมาก (severe acne) มีตุ่มนูนแดงใหญ่ๆ และซิสต์ จำนวนมาก
ซึ่งแพทย์จะแบ่งความรุนแรงของสิว เพื่อวางแผนการรักษาและตรวจติดตามต่อไป
สิว รักษาอย่างไร?
การรักษาสิวขึ้นอยู่กับความรุนแรงของสิว ตำแหน่งที่เป็น อายุ เพศ ความสะดวกในการใช้ยารักษา และผลข้างเคียงจากยา โดยปกติหลังการรักษาไปประมาณ 2-3 เดือน สิวจะเริ่มดีขึ้น ประมาณ 20-40% และจะดีขึ้นไปเรื่อยๆ และเมื่อสิวยุบหมดแล้ว ก็ควรใช้ยาทารักษาสิวต่อ เพื่อป้องกันไม่ให้กลับเป็นซ้ำ การใช้ยา มีทั้งยาทา และยารับประทาน ซึ่งเป็นการรักษาหลัก โดยจะไปออกฤทธิ์แก้ที่สาเหตุที่ทำให้เกิดสิว ปกติจะใช้ยาหลายๆตัวร่วมกัน เพราะสาเหตุที่ทำให้เกิดสิวนั้นมีหลายปัจจัย
- ยาทา ได้แก่
- อนุพันธ์ของวิตามินเอ (Topical retinoids) ช่วยให้การผลัดเซลล์ผิวในรูขนเป็นไปอย่างปกติ ช่วยละลายสิวอุดตัน และป้องกันการเกิดสิวใหม่
- เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ (benzoyl peroxide) หรือที่มักรู้จักกันในชื่อ เบนแซค (benzac) ฆ่าเชื้อ P.acnes, ยีสต์ ที่พบในรูขน ต่อมไขมัน ช่วยรักษาสิวอักเสบ ป้องกันการเกิดเชื้อดื้อยาเมื่อใช้กับยาฆ่าเชื้อแบบทาหรือรับประทาน
- ยาฆ่าเชื้อชนิดทา (topical antibiotics) ได้แก่ clindamycin, erythromycinช่วยฆ่าเชื้อ P.acne และลดการอักเสบ สามารถใช้ในสิวอักเสบได้
- กรดอะเซเลอิค (Azeleic acid) ช่วยฆ่าเชื้อ P.acne ลดการอักเสบ ลดสิวอุดตัน และยังช่วยลดรอยดำ (PIH) เมื่อสิวหายอีกด้วย
- กรดซาลิไซลิก (salicylic acid) ช่วยละลายสิวอุดตัน แต่ก็น้อยกว่ากรดวิตามินเอ และช่วยลดการอักเสบด้วย
- ยารับประทาน ได้แก่
- ยาฆ่าเชื้อ (antibiotic) ที่ใช้บ่อยๆ ในคนที่มีสิวรุนแรงปานกลางถึงมาก ได้แก่ Tetracyclin Doxycyclin, Erythromycin, Azithromycin เป็นต้น โดยยาจะไปยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ P.acnes และต้านการอักเสบ โดยปกติจะให้ไม่เกิน 3 เดือน
- ยาเม็ดคุมกำเนิด ชนิดฮอร์โมนรวม ออกฤทธิ์ต้านฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) ที่เป็นสาเหตุของสิว เหมาะสำหรับคนที่เป็นสิวระดับปานกลางถึงรุนแรงที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษามาตรฐาน หรือมี ลักษณะของความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อ เช่น อ้วน ขนดก หน้ามัน ประจำเดือนมาไม่ปกติ เป็นต้น
- อนุพันธ์ของวิตามินเอ (Isotretinoin) ช่วยลดขนาดต่อมไขมัน ลดการสร้างน้ำมันออกมาที่ผิวหนัง เมื่อไขมันลดลง เชื้อ P.acne ก็ลดลงไปด้วย รวมถึงลดการหนาตัวของผิว จึงช่วยลดการอุดตัน ลดการอักเสบ แต่มีผลข้างเคียงมาก
- การรักษาอื่นๆ เช่น
- สบู่ ควรใช้สบู่ที่อ่อนโยน ไม่ระคายเคือง ไม่มีสารที่ก่อให้เกิดสิว หรือการอุดตัน
- มอยเจอร์ไรเซอร์ เพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิว ควรใช้ชนิดที่ไม่มีน้ำมัน เพื่อช่วยลดการอุดตัน และเนื่องจากยารักษาสิวมีผลข้างเคียงทำให้หน้าแห้ง ลอกเป็นขุยได้ การใช้ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น จะช่วยลดผลข้างเคียงเหล่านี้ได้
- ครีมกันแดด ควรใช้สารกันแดดที่ป้องกันได้ทั้ง UVA และ UVB และไม่ก่อให้เกิดการอุดตัน ช่วยลดอาการผิวไวต่อแสง ที่เกิดจากยารักษาสิว และช่วยป้องกันไม่ให้เกิดรอยดำตามหลังการอักเสบ
- การฉีดยาสเตียรอยด์ เพื่อรักษาสิวอักเสบ
- การกดสิว ในกรณีที่มีสิวอุดตัน
- การใช้สารเคมีลอกผิว (chemical peeling) เช่น กรดซาลิไซลิก (salicylic acid) ใช้รักษาสิวอุดตัน สิวอักเสบได้
- เลเซอร์รอยสิว (การรักษารอยแดง รอยดำ จากสิว)
สิวและรอยแดงของสิว เป็นปัญหาสำคัญอย่างหนึ่ง เนื่องจากต้องใช้เวลารักษานานพอสมควรกว่าที่รอยแดงจะหาย หรือบางครั้งก็จะเกิดเป็นรอยดำตามมาได้ ซึ่งปัจจุบันมีเทคโนโลยีเลเซอร์ที่ทำให้รอยแดง และสิวดีขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยใช้เป็นเลเซอร์กลุ่มจัดการกับรอยแดงรอยดำจากสิว เช่น Pro yellow laser (577 nm), Pulse dye laser (595 nm), Infrared laser, IPL, RF เป็นเลเซอร์ที่มีประสิทธิภาพในการลดรอยแดงให้จางลงหลังการรักษา ซึ่งการยิงเลเซอร์ชนิดนี้สามารถทำได้ภายในไม่กี่นาที
นอกจากนี้ สิว และรอยแดงจากสิว ก็จะดีขึ้นด้วยตามลำดับ ส่วนมากสามารถเห็นผลการรักษาได้ในครั้งแรกและถ้าทำต่อเนื่องประมาณ 3-5 ครั้ง จะดีขึ้น ประมาณ 70-90% บางรายหายขาดได้ และถ้ามีรอยดำหรือแผลเป็นจากสิวแล้ว เลเซอร์ที่ช่วยได้ ได้แก่ Pico second laser, Q-switch laser และนอกจากจะช่วยลดรอยแดงดำจากสิวแล้ว ยังมีประสิทธิภาพช่วยทำให้ผิวหน้าอ่อนเยาว์ลง เรียบเนียนขึ้นและลดริ้วรอยต่างๆได้เป็นอย่างดี โดยจะช่วยเสริมสร้างเส้นใยคอลลาเจนใต้ผิวหนังให้เพิ่มมากขึ้น จึงทำให้รูขุมขนเล็กลง ผิวเรียบเนียนขึ้น ซึ่งควรเข้ารับการรักษาทุกๆ 2-4 สัปดาห์ ประมาณ 3-5 ครั้ง ซึ่งขึ้นอยู่กับการตอบสนองที่แตกต่างของแต่ละบุคคล
คลิ๊กอ่าน บทความยอดนิยม
ข้อควรรู้ ก่อนดูดไขมัน! โดยแพทย์ระดับสากล ประสบการณ์ 22 ปี