ตกขาว (Vaginal Discharge หรือ Leukorrhea) ในบางครั้งถ้าลองสังเกตุดีๆ จะพบว่าในบางคน ตกขาวมีสีและกลิ่นที่เปลี่ยนไป ซึ่งอาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกได้ว่า ภายในช่องคลอดนั้นเกิดความผิดปกติบางอย่าง เช่น การติดเชื้อ หรืออาจนำมาซึ่งโรคบางชนิด วันนี้ รัตตินันท์ เมดิคอล เซ็นเตอร์ มีข้อมูลเกี่ยวกับอาการและสีของตกขาว มาฝากสาวๆ เช็คให้ชัวร์กันดีกว่า!
ตกขาว คืออะไร ?
สารคัดหลั่งจากช่องคลอด หรืออะไรก็ตามที่ไหลออกมาจากช่องคลอดที่ไม่ใช่เลือด ก็จะเรียกว่าตกขาว ส่วนใหญ่จะมีสีขาว หรือเป็นมูกใส เลยเรียกว่าตกขาว ซึ่งผลิตมาจากปากมดลูก ผนังช่องคลอด และต่อมที่ผลิตเยื่อเมือกต่างๆ ที่อยู่ในช่องคลอด โดยเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และเป็นเรื่องปกติ
ปกติแล้วในช่องคลอดจะมีเชื้อแบคทีเรียอาศัยอยู่หลายชนิดซึ่งเป็นเชื้อประจำถิ่น (normal flora) เป็นเชื้อแบคทีเรียที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เชื้อที่พบมากที่สุด คือ (Lactobacillus acidophilus) มีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับความสมดุลภายในช่องคลอด โดยแลคโตบาซิลลัส เป็นตัวการสำคัญทำให้สภาพแวดล้อมภายในช่องคลอดเป็นกรด และมีค่า pH ปกติน้อยกว่า 4.5 (3.8-4.2) ซึ่งมีผลทำให้แบคทีเรียที่ไม่ดี หรือตัวก่อโรค และเชื้ออื่นๆ ถูกยับยั้งไม่สามารถเจริญเติบโตได้
อาการ ตกขาว มีกี่แบบ และต่างกันอย่างไร ?
ตกขาวที่ปกติ จะมีลักษณะ สีขาว ใส ไม่มีกลิ่น ไม่มีอาการคัน อาจจะปริมาณเยอะขึ้นได้ ในช่วงกลางรอบเดือนเวลาไข่ตก หรือช่วงก่อนและหลังมีประจำเดือน
ถ้าอยู่ๆ ตกขาวมีกลิ่น กลิ่นไม่เหมือนเดิม กลิ่นเหม็น กลิ่นคาว สีเปลี่ยนไปเป็นเหลือง เขียว เทา หรือตกขาวมาเยอะ ต้องสงสัยว่านี่คือตกขาวผิดปกติ และอาจมีอาการร่วมอื่น ๆ เช่น คัน มีไข้ ปวดท้อง แสบร้อนบริเวณช่องคลอด เป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านี้ควรไปพบแพทย์ เพื่อตรวจให้แน่ใจว่าสาเหตุมาจากอะไร
ตกขาว ที่ผิดปกติเกิดจากอะไร? และมีลักษณะที่เปลี่ยนไปอย่างไร?
โดยปกติแล้วบริเวณช่องคลอดจะมีแบคทีเรียทีเรียประจำถิ่นอยู่ ทำหน้าที่คอยปกป้องช่องคลอดไม่ให้เกิดการติดเชื้อ ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว แต่เมื่อใดก็ตามที่เรามีการรับประทานยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย บ่อยๆ หรือรับประทานเป็นเวลานาน ไม่ว่าจะเป็นการรักษาโรคหวัดโรค ลำไส้อักเสบ ท้องเสีย หรือโรคอื่น ๆ ก็จะส่งผลทำให้แบคทีเรียชนิดดีที่อยู่ในช่องคลอดถูกทำลายไปด้วย รวมถึงการนอนหลับพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ หรือในคนที่เป็นโรคเบาหวาน ก็อาจส่งผลให้ภูมิคุ้มกันต่ำลง หรือบางคนมีการทานยากดภูมิ ทานยาคุมกำเนิด ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดการติดเชื้อบริเวณช่องคลอดเกิดเป็นตกขาวที่ผิดปกติได้ รวมถึงช่วงหลังมีประจำเดือนหรือใกล้มีประจำเดือนที่เป็นปัจจัยเสี่ยงเช่นเดียวกัน
– ตกขาวสีเขียว/ตกขาวสีเหลือง มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย อาจจะเป็นเชื้อที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ก็ได้ เช่น หนองใน หรืออาจเป็นพยาธิ ซึ่งต้องพบแพทย์เพื่อตรวจให้ละเอียดว่าเป็นเชื้ออะไร เพราะการรักษาต่างกัน ยิ่งถ้าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และพยาธิต้องรักษาคู่นอนด้วย
– ตกขาวสีขาวขุ่น ลักษณะคล้ายแป้งเปียก เกิดจากการเป็นเชื้อรา มักจะมีอาการคันร่วมด้วยหรือแสบร้อนบริเวณช่องคลอด รวมถึงแสบร้อนขณะมีเพศสัมพันธ์ หากคู่นอนมีอาการด้วยก็ต้องได้รับการรักษาร่วมกัน
– ตกขาวสีขาวเทา/สีเทา มีกลิ่นอับ (musty) หรือคาวปลา (fishy) ลักษณะเหลวเนื้อละเอียดคล้ายกาวแป้งมัน มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย โดยต้องให้แพทย์ตรวจว่าเป็นแบคทีเรียชนิดไหน หากเป็นแบคทีเรียธรรมดา แพทย์จะให้ยา แต่ถ้าเป็นแบคทีเรียที่ติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์ แพทย์จะให้ยาคู่นอนด้วย
– ตกขาวมีเลือดปน หรือตกขาวออกสีน้ำตาล ร่วมกับมีอาการปวดบริเวณอุ้งเชิงกราน เจ็บปวดขณะปัสสาวะและขณะมีเพศสัมพันธ์ อาจเกิดจากประจำเดือนมาไม่ปกติ ออกกระปริด กระปรอย มีโอกาสเป็นเนื้องอกหรือมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเยื่อบุมดลูกได้ ควรรับการตรวจอย่างละเอียด
ส่วนอาการตกขาวที่ผิดปกติแต่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ อาจเกิดจากการที่มีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในช่องคลอดหรือปากมดลูก การแพ้สารเคมี เช่น สารจากผ้าอนามัย หรือถุงยางอนามัย การสวนล้างช่องคลอด การเกิดติ่งเนื้อที่ปากมดลูก เป็นต้น
ความผิดปกติของตกขาวสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกช่วงอายุ ตั้งแต่วัยเด็กไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ ถ้าพบในช่วงวัยเด็กมากๆ ก็จะต้องสงสัยเรื่องมีสิ่งแปลกปลอมในช่องคลอดหรือไม่ ร่วมถึงปัญหาที่เกิดจากการล่วงละเมิดทางเพศได้ ส่วนในวัยเจริญพันธุ์เรื่องความผิดปกติของตกขาวเป็นเรื่องที่เกิดได้บ่อย ไปจนถึงวัยสูงอายุหรือเข้าสู่วัยทองแล้ว ก็สามารถเกิดความผิดปกติของตกขาวได้ ซึ่งโดยปกติแล้วปริมาณตกขาวจะลดลง เพราะปกติแล้วร่างกายจะผลิตฮอร์โมนเอสโทรเจน (estrogen) น้อยลงส่งผลทำให้ตกขาวลดลงด้วย แต่ถ้าหากว่าอายุมากแล้ว แต่ตกขาวยังมีปริมาณมาก อาจแสดงถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้ จึงควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจให้ละเอียดว่ามีความผิดปกติหรือไม่
การวินิจฉัยอาการ ตกขาว
- ซักประวัติ ทั้งประวัติทั่วไป เช่น อายุ อาชีพ การศึกษา สถานภาพสมรส ภาวะเจ็บป่วยที่ผ่านมา ยาที่ใช้ประจำ รวมถึงลักษณะของตกขาว ปริมาณ กลิ่น สี มีความสัมพันธ์กับรอบประจำเดือนหรือไม่ อาการร่วมอื่นๆ เช่น มีอาการคัน แสบร้อนปากช่องคลอด ปัสสาวะแสบขัด เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ พฤติกรรมอื่น ๆ เช่น การเข้าห้องน้ำ การสวนล้างช่องคลอด พฤติกรรมการร่วมเพศ เป็นต้น
- ตรวจร่างกาย และตรวจภายใน
- ตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อดูลักษณะของตกขาว ตรวจหาเชื้อว่าเป็นเชื้อชนิดไหน เพื่อจะได้รับการรักษาที่ถูกต้อง
อ่านเพิ่มเติม บทความที่เกี่ยวข้อง
[ กระชับห้องเครื่อง แก้ปัสสาวะเล็ด (Virgin Lift) ]
ตกขาว รักษาอย่างไร?
การรักษา อาการตกขาว ที่ผิดปกติ ขึ้นอยู่กับว่าสาเหตุว่าเกิดจากอะไร โดยเราจะต้องรักษาที่สาเหตุและโรคที่ทำให้เกิดอาการเหล่านี้ ซึ่งโดยทั่วไป อาการตกขาวที่ผิดปกติที่พบบ่อยๆ มักจะเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราในช่องคลอด ซึ่งสามารถรักษาให้หายขาดได้
ตกขาวผิดปกติจากการติดเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial Vaginosis; BV) แพทย์จะให้การรักษาโดยการให้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียชื่อ เมโทรนิดาโซล (Metronidazole) รับประทาน 500 มก. วันละ 2 ครั้ง นาน 7 วัน และงดการดื่มแอลกอฮอล์ในระหว่างรักษาและหลังรักษาเป็นเวลา 24 ชั่วโมง เพราะจะทำให้เกิดอาการเหมือนคนแพ้เหล้า (disulfiram-like reaction) คือ หน้าแดง ปวดหัว ใจสั่น มึนงง โดยทั่วไปถือว่า BV เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (แต่ไม่เสมอไปทุกกรณี) กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อโรคนี้ ได้แก่ มีคู่นอนหลายคน สวนล้างช่องคลอด ขาดเชื้อแลคโตบาซิลลัสในช่องคลอด แต่จากการศึกษาพบว่าการรักษาคู่นอนไม่ได้ป้องกันการเป็นซ้ำ โดยทั่วไปจึงไม่แนะนำให้รักษาคู่นอน
ตกขาวผิดปกติจากการติดเชื้อปรสิตหรือพยาธิทริโคโมแนส วาจินาลิส (Trichomoniasis) แพทย์จะให้การรักษาโดยการให้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียชื่อ เมโทรนิดาโซล (Metronidazole) รับประทาน 500 มก. วันละ 2 ครั้ง นาน 7 วัน และต้องรักษาคู่นอนด้วย เพราะถ้าไม่รักษามีโอกาสติดเชื้อซ้ำ (reinfection)
ตกขาวผิดปกติจากการติดเชื้อรา (Vulvovaginal Candidiasis; VVC) เชื้อแคนดิดา อัลบิแคนส์ (candida albicans) เป็นต้นเหตุ 80-95 % ของช่องคลอดอักเสบจากเชื้อรา เมื่อมีการรบกวนระบบนิเวศวิทยาในช่องคลอด เชื้อราจะกลายเป็นเชื้อฉกฉวยโอกาส (oppotunistic pathogen) ปกติเชื้อประจำถิ่นหรือแลคโตบาซิลลัส (lactobacilli) จะยับยั้งการเติบโตของเชื้อราในช่องคลอด ถ้ามีการลดลงของ lactobacilli เชื้อราจะมีการเจริญเติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ซึ่งปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเกิดช่องคลอดอักเสบจากเชื้อรา ได้แก่ การใช้ยาปฏิชีวนะ, การตั้งครรภ์, โรคเบาหวาน การใช้ยาคุมกำเนิด (ชนิดที่มีเอสโตรเจนสูง) โดยยาที่ใช้รักษา มีทั้งยาสอดช่องคลอดและยารับประทาน ตัวยาที่ใช้ ได้แก่ โคลไตรมาโซล (Clotrimazole) ส่วนยารับประทานใช้ยาฟลูโคนาโซล (Fluconazole) รับประทาน 150 mg ครั้งเดียว หรือ ไอทราโคนาโซล (Itraconazole) รับประทานครั้งละ 200 mg วันละครั้ง นาน 3 วัน หรือ 400 mg ครั้งเดียว รวมถึงมีการใช้ยาทาสำหรับทาภายนอกในรายที่มีการอักเสบของปากช่องคลอดร่วมด้วย โดยใช้เป็น โคลไตรมาโซลครีม (Clotrimazole 1 % cream) ทานาน 7-14 วัน
ตกขาว ที่ผิดปกติสามารเกิดภาวะแทรกซ้อนได้
- คัน บวม เจ็บปวด หรือมีแผลบริเวณช่องคลอดและปากช่องคลอด
- เจ็บปวดในขณะปัสสาวะ ปวดบริเวณท้องน้อย
- เจ็บปวดในขณะมีเพศสัมพันธ์
- การติดเชื้อลามไปที่อวัยวะในอุ้งเชิงกราน เช่น มดลูก รังไข่ เกิดเป็นอุ้งเชิงกรานอักเสบได้
- ตกขาวที่เกิดจากการมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ภายในมดลูกหรือช่องคลอด อาจนำไปสู่อาการช็อกเฉียบพลันจากการที่พิษเข้าสู่กระแสเลือด (Toxic Shock Syndrome) ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
การป้องกันไม่เกิดตกขาวผิดปกติ
- ป้องกันได้โดยการทำร่างกายให้แข็งแรง โดยออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ งดสุราและบุหรี่ เพื่อทำให้ภูมิต้านทานในร่างกายเป็นปกติ
- หลีกเลี่ยงการอับชื้น ไม่ใส่กางเกงในรัดเกินไป
- เวลาเป็นหวัด ไม่ควรซื้อยาฆ่าเชื้อรับประทานเอง เพราะบางครั้งก็ไม่ได้ติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งการทานยาฆ่าเชื้อบ่อยๆ ก็ทำให้เชื้อดีๆ ที่อยู่ในช่องคลอดตายไปด้วย เสี่ยงต่อการเป็นตกขาวที่ผิดปกติได้
- การสวนล้างช่องคลอด ไม่ช่วยป้องกัน แต่อาจจะทำให้เป็นมากขึ้น เพราะทำให้สภาพภายในช่องคลอดเปลี่ยนแปลง เชื้อแบคทีเรียประจำถิ่นที่ดีตายไป ก็ไม่ช่วยป้องกันการติดเชื้อ
- ควรตรวจภายใน ตั้งแต่ อายุ 21 และเริ่มมีเพศสัมพันธ์ ควรตรวจภายในเป็นประจำทุกปี