การวัด ดัชนีมวลกาย Body Mass Index (BMI) คือ อัตราส่วนระหว่างน้ำหนักต่อส่วนสูง ที่ใช้บอกว่าอ้วนหรือผอม ในผู้ใหญ่ตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป ความสำคัญของการรู้ค่าดัชนีมวลร่างกาย เพื่อดูอัตราการเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ถ้าค่าที่คำนวนได้ มากหรือน้อยเกินไป จะบอกว่าเป็นโรคอ้วนหรือผอมเกินไปแล้ว จะมีภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจขาดเลือด และโรคนิ่วในถุงน้ำดี
แต่ในขณะเดียวกัน ผู้ที่ผอมเกินไป ก็จะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ประสิทธิภาพในการทำงานของร่างกายลดลง ดังนั้นควรรักษาระดับน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
วิธีคำนวณ ดัชนีมวลกาย Body Mass Index (BMI) ** กรุณาอ่านข้อจำกัดด้านล่าง
สูตรคำนวณดัชนีมวลกายคือ [ดัชนีมวลกาย= น้ำหนักตัว / ความสูง ยกกำลังสอง]
- 40 หรือมากกว่านี้ : โรคอ้วนขั้นสูงสุด อัตราตายสูงหากไม่ลดน้ำหนักลง
- 35.0 – 39.9: โรคอ้วนระดับ2 เสี่ยงต่อการเกิดโรคที่มากับความอ้วนมาก หากมีเส้นรอบเอวมากกว่าเกณฑ์ปกติจะเสี่ยงต่อการเกิดโรคสูง ต้องควบคุมอาหาร และออกกำลังกายอย่างจริงจัง
- 28.5 – 34.9: โรคอ้วนระดับ1 และหากมีเส้นรอบเอวมากกว่า 90 ซม.(ชาย) 80 ซม.(หญิง) จะมีโอกาสเกิดโรคความดัน เบาหวานสูง จำเป็นต้องควบคุมอาหาร และออกกำลังกาย
- 23.5 – 28.4: น้ำหนักเกิน หากมีกรรมพันธ์ุเป็นโรคเบาหวานหรือไขมันในเลือดสูงต้องพยายามลดน้ำหนักให้ดัชนีมวลกายต่ำกว่า 23.5 (ต่างชาติอาจจะใช้ตัวเลข 25 แต่สำหรับคนเอเชียจะลดลงเพราะขนาดเล็กกว่า)
- 18.5 – 23.4: น้ำหนักปกติ และมีปริมาณไขมันอยู่ในเกณฑ์ปกติ มักจะไม่ค่อยมีโรคร้าย อุบัติการณ์ของโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง
- น้อยกว่า 18.5: น้ำหนักน้อยเกินไป ซึ่งอาจจะเกิดจากนักกีฬาที่ออกกำลังกายมาก และได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ วิธีแก้ไขต้องรับประทานอาหารที่มีคุณภาพ และมีปริมาณพลังงานเพียงพอ และออกกำลังกายอย่างเหมาะสม
ข้อจำกัดของการใช้ดัชนีมวลกาย (BMI)
1. ดัชนีมวลกาย ไม่นิยมใช้กับเด็กโดยตรง เมื่อได้ค่ามาอาจจะต้องไปดูตารางที่มีค่าเปอร์เซนต์ไทล์ (ในกราฟความสูงที่มักแจกให้ตามโรงพยาบาลเวลาไปฉีดวัคซีน)
2. ไม่สามารถใช้ในคนที่มีรูปร่างล่ำสันและบอกว่าเป็นโรคอ้วนได้ เพราะไม่ได้รวมมวลกล้ามเนื้อ เช่น ผู้ชายที่เล่นกล้าม ควรใช้ % ไขมันแทน
3. อาจจะไม่สามารถใช้ในคนที่มีรูปร่างผิดปกติบางคน คนที่เป็นโปลิโล สูงไม่เท่ากัน กระดูกสันหลังคดที่วัดความสูงแท้จริงไม่ได้ หรือคนที่สูงผิดปกติจากโรค acromegaly
ในสูตรคำนวนดัชนีมวลกาย ถูกวิจารณ์ไว้มาก เนื่องจากตัวหารซึ่งก็คือส่วนสูงที่ถูกยกกำลังสองนั้น มันมากเกินไป ผลก็คือในคนที่เตี้ย จะเห็นว่าตัวหารที่มาก(ส่วนสูงน้อยกว่า) ทำให้ได้ค่าที่น้อยกว่าความเป็นจริง และดูเหมือนไม่อ้วน ในทางกลับกับคนที่สูงมาก อาจจะดูว่าอ้วนเกินไป
4. การบอกความเสี่ยงโรคอาจจะต้องดูปัจจัยอื่นๆด้วย เช่นเส้นรอบเอว พันธุกรรม ไขมันในเลือดที่เป็น ณ ขณะนั้นหรืออื่นๆ อย่าใช้ตัวเลขนี้เพียงตัวเลขเดียวในการตัดสินความเสี่ยง เช่น คนที่ BMI ไม่สูงมาก แต่เส้นรอบเอวหนา มีไขมันในเลือดสูงเป็นเวลานานจากพันธุกรรม ควรได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วนกว่า
5. ไม่ควรใช้ ดัชนีมวลกาย ในผู้สูงอายุ ที่เริ่มมีการลดลงของความสูงเนื่องจาก osteoporosis หรือกระดุกพรุน ค่าที่ได้จะผิดเพี้ยนสูง
[ วิดีโอ BMI คืออะไร? ทำไมต้องเช็ค BMI ]
ความเสี่ยงต่อโรค
เราใช้ค่า BMI ในการทำนายโรคต่างๆดังต่อไปนี้ เพราะเราทราบว่ามีความสัมพันธ์กัน คือ BMI สูงก็จะมีโรคดังกล่าวมากขึ้น
- โรคเส้นเลือดหัวใจอุดตันหรือตีบ Coronary artery disease
- โรคไขมันในเลือดสูง Dyslipidemia
- โรคเบาหวานแบบที่ 2 Type 2 diabetes
- โรคที่เกี่ยวกับถุงน้ำดีเช่นนิ่วในถุงน้ำดี Gallbladder disease
- ความดันโลหิตสูง Hypertension
- โรคข้อกระดูกเสื่อม โดยเฉพาะหัวเข่า Osteoarthritis
- โรคหยุดหายใจขณะหลับ Sleep apnea
- โรคเส้นเลือดสมองหรือสโตรก Stroke
- เป็นหมัน Infertility
- รวมทั้งมะเร็งอีกไม่ต่ำกว่า 10 ชนิด เช่น มะเร็งผนังมดลูก endometrial, มะเร็งเต้านม breastและมะเร็งลำไส้ใหญ่ colon cancer
ในคนที่ BMI หรือดัชนีมวลกายสูง ก็จะมีอัตราตายและมีอายุสั้นกว่า มากถึง 51% เมื่อเทียบกับคนที่อายุ มีความเสี่ยงอื่นๆเช่นไม่สูบบุหรี่เหมือนกัน ความอ้วนจึงเป็นปัจจัยที่ทำให้ตายได้ ก่อนวัยอันควรจริงๆ
วิธีอื่นๆในการวัดความอ้วนแทน ดัชนีมวลกาย : เส้นรอบเอว

Overweight Man Measuring His Belly with tape measure
“วัดเส้นรอบเอวส่วนที่กว้างที่สุด ขณะหายใจออกเต็มที่ และห้ามแขม่วท้อง” …นี่เป็นคำแนะนำของแพทย์ส่วนใหญ่ที่ดูแลคนไข้อ้วน ให้วัดเส้นรอบเอวอย่างถูกต้อง
สำหรับผู้ชายที่มีรอบเอวมากกว่า 90 เซนติเมตร (36 นิ้ว) และผู้หญิงที่มีรอบเอวมากกว่า 80 เซนติเมตร (32 นิ้ว) …ขอแสดงความเสียใจด้วยครับ คุณเป็น“โรคอ้วนลงพุง” แล้ว
แต่…ต้องไม่ลืมว่าค่านี้ใช้กับผู้ที่มีความสูงในเกณฑ์เฉลี่ยคนไทยทั่วไป เช่น ผู้ชายสูงประมาณ 170 เซนติเมตร หรือผู้หญิงสูงประมาณ 160 เซนติเมตร
…ฉะนั้นถ้าใครสูงหรือเตี้ยกว่านี้ ก็อาจต้องใช้บัญญัติไตรยางค์เปรียบเทียบสัดส่วนรอบเอว เช่น ถ้าผู้ชายสูง 180 เซนติเมตร ก็เทียบดังนี้
- สูง 170 เซนติเมตร รอบเอวไม่ควรเกิน 90 เซนติเมตร
- สูง 180 เซนติเมตร รอบเอวไม่ควรเกิน = 95 เซนติเมตร
ส่วนคนที่พุงไม่ใหญ่ตามเกณฑ์ด้านบนก็อย่าเพิ่งชะล่าใจไป ถึงพุงไม่ใหญ่แต่ถ้ามีค่าทั้ง 3 อย่างตามด้านล่างนี้ก็ถือว่าเป็นโรคอ้วนลงพุงได้เช่นกัน โดยใช้ร่วมกับ ดัชนีมวลกาย ที่สูง
- ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ (มากกว่า 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ซึ่งเป็นโรคเบาหวาน)
- ความดันโลหิตมากกว่า 130/85 มิลลิเมตรปรอท
- มีไขมันในเลือดผิดปกติ เช่น ไตรกลีเซอไรด์สูง เอชดีแอลต่ำ
ทั้งนี้ไขมันที่สะสมอยู่ในช่องท้องสลายตัวเป็นกรดไขมันอิสระได้ง่าย กรดไขมันอิสระที่ว่านี้จะไปทำให้เกิดภาวะดื้อฮอร์โมนอินซูลิน ทำให้น้ำตาลในเลือดสูง ไขมันในเลือดผิดปกติ จนเกิดโรคความดันโลหิตสูงตามมา นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดโรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคตับอักเสบจากไขมันสะสมในตับอีกด้วยครับ
** อ่านเพิ่มเติมเรื่องการ ผ่าตัดกระเพาะลดน้ำหนัก
การรักษาภาวะอ้วนลงพุงที่ BMI อาจจะไม่สูง
เป้าหมายของการรักษาภาวะอ้วนลงพุงในคนที่เส้นรอบเอวสูงนั้น คือ ลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงหรือโรคหัวใจและหลอดเลือด ด้วยการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต การทานอาหาร ออกกำลังกาย ซึ่งอาจปฏิบัติตามแนวทางดังต่อไปนี้
- ลองคำนวน อัตราการเผาผลาญพลังงานต่อวัน หรือ BMR เพื่อคำนวนการปรับเปลี่ยนอาหาร
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช ถั่ว อาหารที่ปราศจากไขมันชนิดที่ไม่ดี นมไขมันต่ำ เนื้อปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เนื้อสัตว์ปีก และไข่ รวมถึงจำกัดปริมาณการบริโภคอาหารที่มีรสเค็มจัดหรือหวานจัด และอาหารที่มีไขมันทรานส์หรือไขมันอิ่มตัว
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ควรมี ดัชนีมวลกาย อยู่ที่ระหว่าง 18.5-23 ซึ่งแสดงถึงรูปร่างที่ไม่อ้วนหรือผอมจนเกินไป
- จัดการกับความเครียด เพื่อผ่อนคลายความเครียดที่เป็นตัวการทำให้ความดันโลหิตสูงและเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด อาจปฏิบัติตัวได้หลายวิธี เช่น เล่นกีฬา ฝึกโยคะ นั่งสมาธิ ทำงานอดิเรกหรือกิจกรรมที่ชื่นชอบ เป็นต้น
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพราะนอกจากจะทำให้ร่างกายแข็งแรงแล้ว ยังอาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและโรคเบาหวานประเภทที่ 2 ได้ เพราะช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดี รักษาความดันโลหิตให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และช่วยลดน้ำหนักตัวได้
- เลิกสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่เป็นหนึ่งในตัวการที่ทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดหรือภาวะหัวใจขาดเลือด
- ลดการกินไขมันทรานส์
อย่างไรก็ตาม หากปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตตามข้างต้นแล้วไม่เป็นผล แพทย์อาจให้ผู้ป่วยรับประทานยารักษาควบคู่ไปด้วยตามความเหมาะสม

การตรวจหาความเสี่ยงต่อโรคต่างๆเป็นประจำเป็นเรื่องสำคัญ
ไขมันทรานส์ กับอ้วนลงพุง
ไขมันทรานส์เป็นกรดไขมันอีกชนิดที่พบได้ในอาหารที่เรารับประทานเป็นประจำ ถูกแบ่งออกเป็น 2ชนิด คือ ไขมันทรานส์ธรรมชาติ (natural trans fat) และ ไขมันทรานส์สังเคราะห์ (artificial trans fat) ส่วนใหญ่เราจะได้รับไขมันทรานส์จากการสังเคราะห์ ในกระบวนการผลิตอาหาร เพื่อยืดอายุอาหารจำพวกของทอด เช่น ไก่ทอด มันฝรั่งทอด แฮมเบอร์เกอร์ หรือขนมอบกรอบ นอกจากนี้ยังรวมถึงอาหารที่มีส่วนประกอบของเนยขาว และมาร์การีน เช่น คุ้กกี้ พาย พัฟ หรือขนมขบเคี้ยวชนิดแท่งด้วย
ไขมันชนิดนี้เกิดจาก แปรรูปกรดไขมันไม่อิ่มตัว (unsaturated fats) ให้กลายเป็นกรดไขมันอิ่มตัว (saturated fats) โดยการเติมไฮโดรเจน อีกชื่อหนึ่งของไขมันสังเคราะห์ชนิดนี้ที่อยู่บนฉลากอาหาร คือ partially hydrogenated oil
สาเหตุที่มีการนำไขมันไปเปลี่ยนเป็นไขมันทรานส์ เนื่องจากไขมันทรานส์ ทนความร้อนได้สูง สามารถเก็บไว้ได้นานโดยไม่เหม็นหืน และมีรสชาติคล้ายคลึงไขมันจากสัตว์ แต่มีราคาที่ถูกกว่า ผู้ผลิตอาหารต่างๆ จึงนิยมนำไขมันทรานส์มาใช้ประกอบอาหาร เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะกลุ่มอาหารฟาสต์ฟูด
จากงานวิจัยพบว่า การรับประทานอาหารที่มีกรดไขมันทรานส์มากๆ จะมีผลต่อการทำงานของเอนไซม์ Cholesterol acyltranferase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่มีบทบาทสำคัญในการเผาผลาญไขมันคอเลสเตอรอล ส่งผลให้ระดับไขมัน LDL ในเลือดเพิ่มขึ้น และไขมัน HDL ซึ่งเป็นคอเลสเตอรอลชนิดดีลดลง เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ
ในปี 2556 องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (US Food and Drug Administration) ได้ออกประกาศเตือน ว่า ไขมันทรานส์เป็นไขมันที่ไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพ และมีการกำหนดให้ผู้ผลิตอาหารระบุปริมาณไขมันทรานส์บนฉลากผลิตภัณฑ์
ล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายน 2558 มีการประกาศว่า ไม่ให้ใช้ไขมันทรานส์ในการผลิตอาหารโดยเด็ดขาด โดยให้เวลาผู้ผลิตอาหาร 3 ปี ในการปรับกระบวนการผลิต ประเทศที่ใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเข้มงวด คือ เดนมาร์ก ที่ออกกฎหมายบังคับผู้ผลิตอาหารไม่ให้มีไขมันทรานส์ในอาหารเกิน 2% พบว่า ผู้ผลิตอาหารให้ความร่วมมืออย่างดีมาก ส่งผลให้อัตราเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดลดลง ถึง 70%
สำหรับคนไทยถึงแม้ว่าเรายังไม่มีมาตรการทางกฎหมายมาควบคุมการใช้หรือบังคับให้ระบุปริมาณไขมันทรานส์บนฉลากอาหาร แต่เราสามารถเริ่มดูแลตัวเองโดยให้ความใส่ใจกับการเลือกรับประทานอาหาร เพื่อสุขภาพของตัวเรา หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันทรานส์เป็นส่วนประกอบ เช่น กลุ่มเบเกอรี่ (เค้ก ครัวซอง คุ้กกี้ โดนัท มัฟฟิน พาย พัฟไส้ต่างๆ) ที่มักจะมีส่วนประกอบของเนยมาการีน และของทอดที่ใช้น้ำมันทอดซ้ำๆ จนหนืด เช่น มันฝรั่งทอด ไก่ทอด นักเก็ต เป็นต้น