เรื่องน่ารู้ “คอลลาเจน” (Collagen) ช่วยเรื่องอะไร? กินอย่างไรให้ได้ผล?

คอลลาเจน collagen คืออะไร สำคัญต่อผิวอย่างไร

คอลลาเจน คืออะไร ?

คอลลาเจน ( Collagen ) คือ เส้นใยโปรตีนชนิดหนึ่ง ที่ทำหน้าที่คล้ายกาวเกาะยึดส่วนต่างๆ ในร่างกาย เป็นองค์ประกอบหลักของผิวหนัง ขน เส้นผม กระดูกอ่อน ข้อต่อ หลอดเลือด กล้ามเนื้อ รวมถึงเนื้อเยื่อส่วนต่างๆ ทั่วร่างกาย ซึ่งร่างกายมนุษย์ทุกคนสามารถสร้างขึ้นเองได้ตามธรรมชาติ โดยปกติแล้วคอลลาเจนจะถูกสังเคราะห์โดยกรดอะมิโนที่ร่างกายได้รับจากรับประทานสารอาหารชนิดต่างๆ โดยเฉพาะอาหารที่มีวิตามินซี แต่หากร่างกายมีปริมาณวิตามินซีไม่เพียงพอ การสังเคราะห์คอลลาเจนก็อาจจะไม่สมบูรณ์

คอลลาเจนที่ร่างกายได้รับมักมาจาก : การทานโปรตีนจากเนื้อสัตว์ ปลา พืช หรือผลิตภัณฑ์จากนม จะเข้าไปย่อยสลายจนแตกตัวและก่อตัวขึ้นใหม่ กลายเป็นเส้นใยโปรตีนหรือคอลลาเจน ซึ่งทําหน้าที่เพิ่มความแข็งแรงและเพิ่มความยืดหยุ่นให้แก่อวัยวะต่างๆ ภายในร่างกาย คอยช่วยให้ผิวหนังมีความชุ่มชื้น ยืดหยุ่น คงความกระชับ เต่งตึง เรียบเนียน และช่วยปกป้องความแข็งแรงให้กับกระดูกอ่อน

โดยร่างกายจะสามารถผลิตคอลลาเจนได้มากในขณะที่เรามีอายุน้อย และจะลดปริมาณการผลิตคอลลาเจนลงเมื่ออายุมากขึ้น

โดยเฉพาะคนที่มีอายุมากกว่า 30 ปี ขึ้นไปพบว่าการสังเคราะห์คอลลาเจนจะลดลงหรือในผู้ที่มีปัจจัยบางอย่างทำให้คอลลาเจนเสื่อมสภาพหรือถูกทำลายได้ง่าย ทำให้ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์อาหารเสริมคอลลาเจนออกมาวางขายเป็นจำนวนมาก มีทั้งชนิดเม็ดหรือชนิดผงละลายน้ำ ซึ่งแต่ละแบรนด์ก็ต่างกล่าวอ้างสรรพคุณของคอลลาเจนทั้งในเรื่องของการบำรุงให้ผิวอ่อนเยาว์ ผิวเนียนละเอียด มีสุขภาพดีจากภายในสู่ภายนอก หรือบางครั้งก็โฆษณาสรรพคุณด้านการบรรเทาอาการปวดจากโรคข้อโรคกระดูกเสื่อม เราจะมาดูกันว่าการใช้คอลลาเจนเสริมในรูปแบบต่างๆ นั้นมีประโยชน์จริงหรือไม่

คอลลาเจน สำคัญอย่างไร

คอลลาเจน มีกี่ประเภท ?

คอลลาเจน เป็นเส้นใยโปรตีนประเภทหนึ่ง ในร่างกายเรามีคอลลาเจนอยู่ประมาณร้อยละ 6 ของน้ำหนักตัว หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของโปรตีนทั้งหมดของร่างกาย เป็นส่วนประกอบสำคัญของโครงสร้างผิว กระดูกอ่อนและหลอดเลือด เป็นต้น ในปัจจุบันมีการค้นพบคอลลาเจนมากกว่า 18 ชนิด แต่คอลลาเจนที่พบมากที่สุด 5 ชนิดได้แก่

  • คอลลาเจนประเภทที่ 1 (type I)

ซึ่งพบมากถึง 90% ของคอลลาเจนทั้งหมดในร่างกาย ช่วยในการสร้างกระดูก ผนังหลอดเลือด เอ็นและเอ็นยึดกล้ามเนื้อ ผิวหนัง กระจกตา และเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Connective tissue) มีความเหนียวและแข็งแรงมากที่สุด

  • คอลลาเจนประเภทที่ 2 (type II)

พบมากในกระดูกอ่อน เช่น ส่วนประกอบของหู จมูก หลอดลม และกระดูกซี่โครง ทำหน้าที่แตกต่างจากคอลลาเจนประเภทที่ 1 อย่างสิ้นเชิง โดยจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการสังเคราะห์ของเซลล์ให้มีจำนวนมากขึ้น เพื่อการลดอัตราการเสื่อมของกระดูกอ่อนบริเวณข้อต่อ ซึ่ง คอลลาเจนชนิดที่ 2 เป็นคอลลาเจน ที่พบได้ในกระดูกอ่อนและหมอนรองกระดูกสันหลัง ซึ่งทำหน้าที่รองรับน้ำหนักและให้ความแข็งแรงแก่ข้อต่อในขณะที่มีการเคลื่อนไหว

  • คอลลาเจนประเภทที่ 3 (type III)

มักพบร่วมกับประเภทที่ 1 คือพบในผิว กล้ามเนื้อ และผนังหลอดเลือด

  • คอลลาเจนประเภทที่ 4 (type IV)

พบในส่วนของชั้นเยื่อบุผิว (epithelium-secreted layer)ได้แก่ เบซัล ลามินา (basal lamina) และชั้นเนื้อประสานที่รองรับเนื้อผิว (basement membrane) เป็นคอลลาเจนที่มีลักษณะเฉพาะตัว พบมากบริเวณเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่หุ้มกล้ามเนื้อและไขมัน นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยในเรื่องการทำงานของระบบประสาทและเส้นเลือดอีกด้วย

  • คอลลาเจนประเภทที่ 5 (type V) พบในผิวของเซลล์ ผม และรก

อ่านเพิ่มเติม : Ulthera เทคโนโลยี ฟื้นฟู ยกกระชับผิวหน้า โดยไม่ต้องผ่าตัด

คอลลาเจน แบ่งออกเป็น 4 ชนิดตามขนาดโมเลกุล

  1. คอลลาเจนเปปไทด์ (Collagen Peptide) มีโมเลกุลใหญ่กว่า 300,000 ดาลตัน
  2. คอลลาเจนไตรเปปไทด์ (Collagen Tripeptide)เป็นคอลลาเจนที่ผ่านกระบวนย่อยจนเหลือกรดอะมิโน 3 ตัวเรียงกัน มีขนาดโมเลกุลเฉลี่ย 500-1000 ดาลตัน มีความสามารถในการดูดซึมได้ในระดับปานกลาง
  3. คอลลาเจนไดเปปไทด์ (Collagen Dipeptide) เป็นคอลลาเจนที่ผ่านกระบวนการย่อยโดยเอนไซม์ จนเหลือกรดอะมิโน 2 ตัวเรียงกัน มีโมเลกุลขนาดเล็กเพียง 200 ดาลตัล จึงทำให้มีประสิทธิภาพในการดูดซึมได้อย่างรวดเร็วและมากกว่าคอลลาเจนทั้ง 2 ชนิดแรก
  4. ไฮโดรไลซ์ คอลลาเจน (Hydrolyzed Collagen) เป็นคอลลาเจนที่ผ่านการย่อยด้วยกรดจนได้ขนาดอนุภาคที่เล็กที่สุด ที่ยังคงแสดงคุณสมบัติของความเป็นคอลลาเจน ซึ่งขนาดยิ่งเล็กเท่าใดจะบ่งบอกถึงประสิทธิภาพในการดูดซึมที่ดียิ่งขึ้น ดูดซึมได้ดีกว่าคอลลาเจนทั่วไป 3-4 เท่า

กิน คอลลาเจน อย่างไรให้ได้ผล

มีการศึกษาในมนุษย์พบว่าเมื่อให้อาสาสมัครรับประทานไฮโดรไลซ์ คอลลาเจน (Hydrolyzed Collagen) พบว่ามีการดูดซึมสู่กระแสเลือดในรูปของเปปไทด์สายสั้น ดังนั้นผลิตภัณฑ์คอลลาเจนที่อยู่ในรูปไฮโดรไลซ์ (hydrolysate/hydrolysed) จึงน่าจะสามารถดูดซึมได้ดีกว่าผลิตภัณฑ์คอลลาเจนในรูปแบบปกติ ส่วนประสิทธิภาพในการช่วยชะลอริ้วรอย หรือช่วยเพิ่มความแข็งแรงของผิว ของผลิตภัณฑ์คอลลาเจนที่ขายตามท้องตลาดนั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น

  • การดูดซึมของคอลลาเจน
  • การสะสมของคอลลาเจนบริเวณผิวหนังหลังจากดูดซึมแล้ว
  • การทำลายและขับออกของคอลลาเจนจากร่างกาย
  • ความคงตัวของคอลลาเจนในผลิตภัณฑ์
  • คุณภาพของคอลลาเจน
  • และสภาพผิวก่อนใช้ผลิตภัณฑ์

ล้วนแล้วแต่มีผลต่อประสิทธิภาพทั้งสิ้น ดังนั้นการจะตอบว่าผลิตภัณฑ์สามารถช่วยได้ตามโฆษณาจริงหรือไม่ จำเป็นจะต้องมีการทดสอบทางคลินิกเพื่อทดสอบประสิทธิภาพของแต่ละผลิตภัณฑ์เท่านั้น

ยกตัวอย่างการศึกษา :

ทางคลินิกเพื่อทดสอบประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารคอลลาเจนยี่ห้อหนึ่ง ได้ทำการศึกษาในอาสาสมัครหญิง 33 ราย อายุระหว่าง 40-59 ปี โดยให้รับประทานคอลลาเจนในรูปสารละลาย วันละ 10 กรัม ติดต่อกัน 8 สัปดาห์

ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มอาสาสมัครที่รับประทานคอลลาเจนมีความชุ่มชื่นของผิวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 28 และผิวมีความยืดหยุ่นเพิ่มขึ้น ร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม (กลุ่มที่ไม่ได้รับประทานคอลลาเจน) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ นอกจากนั้นริ้วรอยขนาดเล็กยังมีจำนวนน้อยลงในกลุ่มที่รับประทานคอลลาเจน 

คอลลาเจน กินอย่างไรให้ได้ผล

ความแตกต่างระหว่าง คอลลาเจนชนิดทาผิว และ ชนิดรับประทาน

  • คอลลาเจนชนิดทาผิว

คอลลาเจนโดยส่วนมากมีโมเลกุลขนาดใหญ่ เมื่อทาผิวแล้วจะดูดซึมเข้าสู่ผิวได้ยาก หรือไม่สามารถดูดซึมได้เลย ซึ่งส่งผลให้คอลลาเจนชนิดทาผิวกลายเป็นเพียงมอยส์เจอร์ไรเซอร์ที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นเหมือนครีมทาผิวทั่วไป

  • คอลลาเจนชนิดรับประทาน

มีการศึกษาว่า คอลลาเจนที่มีโมเลกุลขนาดสั้น ๆ เมื่อรับประทานแล้วร่างกายสามารถดูดซึมได้ นอกจากนี้มีการศึกษาเพิ่มเติมในผู้ป่วยเพศหญิงที่เริ่มเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนพบว่าเมื่อรับประทานคอลลาเจนครบ 4 สัปดาห์ ส่งผลให้ริ้วรอยลดลงจริง

สารอาหารที่ช่วยเพิ่มคอลลาเจนในร่างกาย

คอลลาเจนเป็นโปรตีนที่มีความพิเศษเพราะมีกรดอะมิโน 3 ชนิดที่พบได้น้อยในอาหารอื่นๆ ได้แก่ ไกลซีน (Glycine) โพรลีน (Proline) และไฮดรอกซีโพรลีน (Hydroxyproline) ซึ่งเป็นกรดอะมิโนพิเศษที่สร้างจากโพรลีนและไลซีน

วิตามินซี หรือกรดแอสคอร์บิค (ascorbic acid)  มีบทบาทต่อการสร้างคอลลาเจนในปฏิกิริยาไฮดรอกซิเลชั่น (hydroxylation) ดังนั้นการรับประทานผักและผลไม้ที่อุดมไปด้วยวิตามินซีจึงมีส่วนช่วยให้ร่างกายเราสามารถดูดซึมวิตามินดังกล่าวมาใช้ในการเสริมสร้างคอลลาเจนให้แข็งแรงได้

  • สารอาหารที่ช่วยให้ร่างกายผลิตคอลลาเจนได้ดี มีดังนี้
  1. วิตามินซี พบมากในผลไม้รสเปรี้ยว พริกหวาน และสตรอเบอร์รี
  2. โพรลีน พบมากในไข่ขาว จมูกข้าวสาลี ผลิตภัณฑ์จากนม กะหล่ำปลี หน่อไม้ฝรั่ง และเห็ด
  3. ไกลซีน พบมากในหนังหมู หนังไก่ และเจลาติน หรืออาหารที่มีโปรตีนสูงต่างๆ
  4. ทองแดง พบมากในเนื้อสัตว์ เมล็ดงา ผงโกโก้ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ และถั่วเลนทิล

นอกจากนี้ ร่างกายของเรายังต้องการโปรตีนคุณภาพสูงที่มีกรดอะมิโนที่จำเป็นในการสร้างโปรตีนใหม่ เช่น โปรตีนจากพืชซึ่งเป็นแหล่งของกรดอะมิโนที่ดีเช่นกัน

คอลลาเจน

เราจะลดการทำลาย คอลลาเจน ได้อย่างไร ?

พฤติกรรมและการรับประทานอาหารบางชนิด เป็นปัจจัยภายนอกที่สำคัญในการเร่งให้ผิวหนังสูญเสียคอลลาเจน การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการเลือกรับประทานอาหาร คือเคล็ดลับคงความอ่อนวัยของผิวที่ปฏิบัติตามได้ง่าย ๆ ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงอาหารที่เป็นตัวการ ได้แก่ อาหารที่มีน้ำตาลสูง เพื่อลดกระบวนการไกลเคชัน (Glycation) รวมถึงอาหารปิ้งย่างและอาหารสำเร็จรูปที่ส่งผลให้ระดับอนุมูลอิสระในร่างกายเพิ่มสูง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อการทำงานและคอลลาเจนในร่างกาย
  • รับประทานอาหารที่อุดมด้วยสารโคเอนไซม์ คิว (Co-Enzyme Q) เช่น ปลาแมคเคอเรล และวิตามินอี เช่น อัลมอนด์ ซึ่งมีคุณสมบัติยับยั้งความเสียหายและการสูญเสียคอลลาเจนที่เกิดจากอนุมูลอิสระ รวมทั้งเพิ่มการได้รับวิตามินซีที่จะช่วยกระตุ้นการผลิตคอลลาเจน โดยพบได้จากผลไม้รสเปรี้ยวชนิดต่าง ๆ
  • ลดการเผชิญสารต้านอนุมูลอิสระ ด้วยการหลีกเลี่ยงมลพิษทางสิ่งแวดล้อม เช่น ฝุ่น ควัน สารเคมี ยาฆ่าแมลง และหมั่นผ่อนคลายจากความเครียด
  • ไม่สูบบุหรี่และเลี่ยงการสูดดมควันจากผู้อื่น เนื่องจากควันบุหรี่มีสารหลายชนิดที่ส่งผลให้คอลลาเจนและอิลาสติน (Elastin) ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีบทบาทสำคัญต่อความยืดหยุ่นของผิวหนังถูกทำลาย รวมถึงสารนิโคตินที่จะส่งผลให้หลอดเลือดบริเวณผิวหนังชั้นนอกตีบแคบลง เป็นสาเหตุให้ผิวสูญเสียน้ำและเกิดร่องรอยลึก
  • ป้องกันผิวจากแสงแดด รังสียูวีในแสงแดดทำให้ปริมาณคอลลาเจนในผิวหนังลดลง โดยทำให้สลายตัวเร็วขึ้น ทำลายเส้นใยคอลลาเจนหรือเพิ่มการสะสมของเส้นใยอิลาสตินที่ไม่ปกติ นอกจากนี้ ยังเพิ่มเอนไซม์ที่ทำลายคอลลาเจนอีกด้วย ทางที่ดีจึงควรหลีกเลี่ยงการเผชิญแสงแดด รวมถึงแสงจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่สามารถปล่อยรังสียูวีออกมา แม้เพียงในระดับต่ำ และควรเลือกใช้ครีมกันแดดหรือเครื่องสำอางที่มี SPF ป้องกันเสมอ

คอลลาเจน กับความงาม

คอลลาเจน คือ โปรตีนซึ่งพบมากที่สุดที่ในชั้นผิวหนัง หากมีคอลลาเจนเป็นโครงสร้างอยู่มาก ผิวจะมีแรงสปริงตัวและยืดหยุ่นได้ดี แต่เมื่ออายุมากขึ้น เส้นใยของคอลลาเจนจะเสื่อมสภาพลง ทำให้แรงสปริงตัวและความยืดหยุ่นที่เคยมีในวัยเด็กเสื่อมสลายไป ทำให้เกิดความหย่อนคล้อยของผิว

ซึ่งในปัจจุบันนี้นอกจากจะมีคอลลาเจนชนิดรับประทานออกมาวางขายเพื่อช่วยเสริมในเรื่องของการดูแลผิวพรรณ ความงาม อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้ว ก็ยังมีเทคโนโลยีในเรื่องของเครื่องเลเซอร์ ที่ช่วยในการยกกระชับผิว รักษาหลุมสิว ปรับสภาพผิวหน้า ด้วยเช่นกัน

ซึ่งเครื่องมือแต่ละอย่างก็จะมีจุดเด่นที่ต่างกัน แต่โดยหลักการก็คือทำเพื่อกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนขึ้นใหม่ในชั้นผิวของเรา เพื่อเพิ่มความตึงกระชับของใบหน้า แก้ไขปัญหาผิวหย่อนคล้อย ริ้วรอยตื้นๆ รวมไปถึงการรักษาแผลเป็นหลุมสิวด้วยเช่นกัน  

อ่านเพิ่มเติม :

  • ยกกระชับหน้า แก้ปัญหาริ้วรอย ร่องลึก ฟื้นฟูคอลลาเจน ด้วยเลเซอร์ Fotona 4D

สรุป การเลือกรับประทานคอลลาเจนที่ถูกชนิด และเหมาะสมต่อการดูดซึม ก็อาจจะสามารถช่วยให้ผิวมีความยืดหยุ่นมากขึ้นและช่วยลดเลือนริ้วรอยได้ แต่ก็ยังไม่มีการวิจัยในระยะยาว รวมถึงต้องเฝ้าระวังผลข้างเคียงต่อไป ที่สำคัญเราจะต้องเลือกผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองที่ได้มาตรฐานเพื่อความปลอดภัย

Ref.

  1. หน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลhttps://pharmacy.mahidol.ac.th/dic/qa_full.php?id=3544

  2. https://www.scimath.org/article-chemistry/item/614-vitaminc2

  3. https://chulalongkornhospital.go.th

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า