กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis) เป็นการอักเสบของกระเพาะปัสสาวะที่มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินปัสสาวะ (Urinary Tract Infection: UTI) ซึ่งส่วนใหญ่เกิดกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และพบมากในช่วงอายุ 20-50 ปี โดยเฉพาะสาวๆ ออฟฟิศที่นั่งทำงานอยู่ที่โต๊ะอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ แบบไม่อยากขยับเขยื้อนตัวลุกไปไหน และชอบกลั้นปัสสาวะบ่อยๆ
กระเพาะปัสสาวะอักเสบ เกิดจากอะไร ?
สาเหตุหลักที่พบมากที่สุด คือ การติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งก็มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด แต่ที่พบได้บ่อยๆ ประมาณ 75-95% คือ เชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า เอสเชอริเชีย โคไล หรือ อีโคไล (Escherichia coli : E. coli) ซึ่งจะมีอยู่มากที่บริเวณรอบทวารหนัก โดยจะสามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง เช่น การมีเพศสัมพันธ์ การทำความสะอาดหลังถ่ายอุจจาระไม่ถูกวิธี การใช้ผ้าอนามัยแบบสอด
นอกจากนี้อาจเกิดได้จากสาเหตุอื่น เช่น การกลั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน การสวนล้างช่องคลอดด้วยยาปฏิชีวนะ หรือสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่เชื้อแบคทีเรีย แต่มักเกิดได้น้อยมาก เช่น เป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบแบบเรื้อรัง การใช้ยาหรือกใช้ผลิตภัณฑ์บริเวณจุดซ่อนเร้น การฉายรังสีบริเวณกล้ามเนื้อเชิงกราน หรือเป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคอื่น
กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis) ทำไมถึงพบมากในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ?
สาเหตุที่พบโรคนี้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย มาจากสรีระทางร่างกายผู้หญิงซึ่งมีท่อปัสสาวะสั้นกว่าผู้ชาย ดังนั้นเชื้อโรคบริเวณปากท่อปัสสาวะจึงเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะได้ง่ายกว่า นอกจากนี้ท่อปัสสาวะของผู้หญิงยังเปิดออกสู่ภายนอกในบริเวณใกล้กับช่องคลอด และทวารหนัก จึงมีโอกาสติดเชื้อทั้งจากช่องคลอด และจากทวารหนัก โดยเฉพาะเจ้าเชื้อแบคทีเรียได้ง่ายเข้าไปอีก แต่ในบางรายอาจเกิดจากระบบโครงสร้างของระบบปัสสาวะผิดปกติ หรือมีปัญหาเรื่องนิ่ว
อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติม
โรค กระเพาะปัสสาวะอักเสบ อาการเป็นอย่างไร ?
- ปวดปัสสาวะบ่อย อาจจะมากกว่า 10 ครั้งต่อวัน แต่จะปัสสาวะออกมาครั้งละน้อยๆ กระปริบกระปรอย มีอาการคล้ายปัสสาวะไม่สุดอยู่ตลอดเวลา
- รู้สึกปวดแสบขณะปัสสาวะ
- ปวดบริเวณท้องน้อย หรือหัวหน่าว
- มีอาการปวดหลัง หรือ ปวดบริเวณข้างลำตัว
- บางคนจะมีเลือดปนในปัสสาวะ
- ปัสสาวะขุ่น บางครั้งมีกลิ่นผิดปกติ
- มักจะไม่มีไข้ (ยกเว้น ถ้ามีกรวยไตอักเสบร่วมด้วย ผู้ป่วยจะมีไข้สูง หนาวสั่น ปัสสาวะสีขุ่น และมีอาการปวดเอวร่วมด้วย)
- ในเด็กเล็กอาจมีอาการปัสสาวะ รดที่นอน และอาจมีไข้ เบื่ออาหาร อาเจียนร่วมด้วย แต่สำหรับผู้สูงอายุบางคนแทบไม่พบอาการ แต่มักจะมีอาการอ่อนเพลีย สับสน หรือมีไข้
- บางครั้งอาจมีสารคัดหลั่งบริเวณอวัยวะเพศร่วมด้วย
- บางครั้ง อาจมีนิ่วปนออกมาในปัสสาวะ เมื่อเกิดร่วมกับนิ่วในไต หรือนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค กระเพาะปัสสาวะอักเสบ
- ผู้หญิง ด้วยเหตุผลทางด้านสรีระ เนื่องจากท่อปัสสาวะของผู้หญิงสั้นกว่าผู้ชาย เชื้อโรคบริเวณปากท่อปัสสาวะจึงเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะได้ง่ายกว่า
- ดื่มน้ำน้อย จึงทำให้ไม่ค่อยได้ปัสสาวะ ปัสสาวะจึงแช่ค้างอยู่นาน ส่งผลให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดี
- อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อบริเวณอวัยวะเพศและท่อปัสสาวะหลังหมดประจำเดือน จึงทำให้ป้องกันเชื้อโรคต่าง ๆ ได้น้อยลง
- กลั้นปัสสาวะ ยิ่งกลั้นปัสสาวะนานเท่าไหร่ ก็จะยิ่งทำให้เชื้อแบคทีเรียอยู่ในร่างกายนานขึ้นเท่านั้น และนำไปสู่การติดเชื้อได้
- ผู้หญิงที่มีการคุมกำเนิดด้วยการใช้ยาฆ่าอสุจิในช่องคลอด
- การไม่เปลี่ยนแผ่นผ้าอนามัยและผ้าอนามัยแบบสอด อาจนำไปสู่โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้ง่ายขึ้น
ภาวะแทรกซ้อนของ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ
โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ หากเกิดจากการอักเสบเฉียบพลัน สามารถรักษาหายได้ภายใน 2-3 สัปดาห์ หรือจากการอักเสบเรื้อรัง ซึ่งมักมีอาการอักเสบเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง ถ้าไม่ได้รับการรักษาเชื้อโรคอาจลุกลามไปที่ไต ทำให้กรวยไตอักเสบได้ และถ้าปล่อยให้เป็นเรื้อรังอาจทำให้เกิดภาวะไตวายเรื้อรังแทรกซ้อนได้
การวินิจฉัยโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
- แพทย์จะซักถามผู้ป่วย เกี่ยวกับอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น ประวัติการเจ็บป่วย และตรวจร่างกายพื้นฐาน
- การตรวจปัสสาวะ (Urine Analysis) เมื่อผู้ป่วยมีอาการที่น่าสงสัยของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ โดยจะให้ผู้ป่วยเก็บตัวอย่างปัสสาวะและนำไปตรวจ เพื่อหาว่ามีสิ่งแปลกปลอมปนเปื้อนอยู่ในปัสสาวะหรือไม่ เช่น เชื้อแบคทีเรีย เลือด หรือเม็ดเลือดขาว หากมีก็จะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยในเบื้องต้นได้
- หากปัสสาวะที่ตรวจไปเบื้องต้น พบมีการติดเชื้อ แพทย์อาจจะส่งน้ำปัสสาวะไปเพาะเชื้อต่อ เพื่อดูว่าติดเชื้อชนิดใด
- ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงและเรื้อรัง แพทย์อาจจะส่งตรวจเพิ่มเติมอื่นๆ เช่น
- การส่องกล้อง (Cystoscopy) เป็นวิธีที่ใช้ตรวจหาความผิดปกติภายในกระเพาะปัสสาวะ โดยแพทย์จะสอดกล้องขนาดเล็กที่มีลักษณะเป็นท่อยาวผ่านทางระบบทางเดินปัสสาวะ หากพบความผิดปกติที่เกิดขึ้นจะมีการเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อบางส่วนมาตรวจในห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ ซึ่งวิธีนี้ไม่จำเป็นสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการของโรคครั้งแรก และใช้เฉพาะกรณีที่คาดว่าตัวโรคเกิดจากสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่การติดเชื้อ
- การถ่ายภาพทางรังสี (Imaging Tests) เป็นวิธีการใช้รังสีตรวจภายในกระเพาะปัสสาวะ เช่น ก้อนเนื้องอก โครงสร้างของเนื้อเยื่อ เพื่อหาสาเหตุที่อาจเป็นไปได้ของการอักเสบ อาจเป็นการเอกซเรย์หรือการตรวจอัลตราซาวด์ ซึ่งแพทย์จะใช้วิธีนี้ในการวินิจฉัยผู้ป่วยบางรายที่สงสัยภาวะเนื้องอกหรือความผิดปกติอื่นเท่านั้น
กระเพาะปัสสาวะอักเสบ รักษาอย่างไร ?
- ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง และมีสาเหตุของโรคมาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย มักจะรักษาด้วยการใช้รับประทานยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อ ซึ่งระยะเวลาในการรักษาจะขึ้นอยู่กับสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย และชนิดของแบคทีเรียที่พบในปัสสาวะ โดยทั่วไปจะให้รับประทานยาปฏิชีวนะประมาณ 3-5 วัน แต่ถ้ามีผู้ป่วยอาการรุนแรงอาจจะต้องรับประทานยานาน 7-10 วัน
- ควรดื่มน้ำสะอาดมากๆ ประมาณ 6-8 แก้ว ต่อวัน (เมื่อไม่มีโรคที่ต้องจำกัดการดื่มน้ำ เช่น โรคหัวใจล้มเหลว) ซึ่งการดื่มน้ำจะช่วยขับเชื้อโรคออกและลดการปวดแสบปวดร้อน เวลาปัสสาวะได้
- ควรถ่ายปัสสาวะทุกครั้งที่รู้สึกปวด ไม่กลั้นปัสสาวะ
- พยายามเคลื่อนไหวร่างกายเสมอ ไม่ควรนั่งแช่อยู่กับที่เป็นเวลานานๆ
- การทำความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศหรือภายหลังการขับถ่าย(ในผู้หญิง) ต้องทำความสะอาดจากด้านหน้าไปด้านหลังเสมอ เพื่อป้องกันเชื้อโรคปนเปื้อนผ่านเข้าท่อปัสสาวะเข้ามาในกระเพาะปัสสาวะ
- ไม่ควรใช้สเปรย์หรือยาดับกลิ่นตัวในบริเวณอวัยวะเพศเพราะอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อปากท่อปัสสาวะและปากช่องคลอด ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสเกิดการบาดเจ็บและการติดเชื้อของเนื้อเยื่อ
- ควรทำความสะอาดร่างกายและปัสสาวะทิ้งหลังการมีเพศสัมพันธ์
- ผู้ป่วยไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง เพราะอาจทำให้ได้ยาที่ไม่ตรงกับชนิดของโรค หรือขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาไม่ถูกต้อง จึงอาจส่งผลให้โรคไม่หาย และอาจกลายเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบเรื้อรังจากเชื้อดื้อยาได้
FAQ : คำถามที่พบบ่อย
ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้กระเพาะปัสสาวะระคายเคือง ลดการกระตุ้นให้เกิดอาการอักเสบเพิ่มมากขึ้น เช่น
- ชา กาแฟ กลุ่มเครื่องดื่มที่มีคาแฟอีน เนื่องจากสารชนิดนี้จะขับปัสสาวะ ทำให้ปวดปัสสาวะบ่อย
- ไม่ควรดื่มน้ำก่อนนอนในปริมาณมากๆ
- งดการทานของหวาน เช่น เค้ก คุ๊กกี้ โดนัท ที่มีส่วนประกอบของน้ำตาลในปริมาณที่สูงรวมถึงของมัน ของทอด อาหาร fast food เนื่องจากอาหารพวกนี้จะไปกระตุ้นให้กระเพาะปัสสาวะเกิดการอักเสบ
ควรทานอาหารจำพวก พืช ผักใบเขียว หรือผลไม้ เพื่อช่วยต้านการอักเสบ และลดการกระตุ้นให้กระเพาะสาววะเกิดการระคายเคือง เช่น กล้วย สับปะรด ฝรั่ง แอปเปิ้ล อะโวคาโด หรือผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ต่างๆ ที่มีสารแอนโทไซยานิน ที่ช่วยลดการอักเสบของกระเพาะปัสสาวะได้
การมีเพศสัมพันธ์สามารถทำให้เกิดโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบในผู้หญิงได้เช่นกัน เรียกกันในอีกชื่อว่า โรคฮันนีมูน ซิสไตติส (Honeymoon Cystitis) เกิดจากเชื้อโรคกระจายเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะในระหว่างมีเพศสัมพันธ์ หรือมีเพศสัมพันธ์บ่อยครั้ง และหลายครั้งในเวลาอันสั้น
โรคฮันนีมูน ซิสไตติส (Honeymoon Cystitis) สามารถป้องกันได้ โดยหลังจากเสร็จกิจกรรม ควรปัสสาวะ ทำความสะอาดบริเวณท่อปัสสาวะ รวมถึงอวัยวะเพศให้สะอาด รวมถึงมีกิจกรรมทางเพศอย่างเหมาะสม
- หากเริ่มมีอาการ เป็นไม่มาก ให้ดื่มน้ำเปล่าสะอาดมากๆ เพื่อขับเชื้อโรคออกจากกระเพาะปัสสาวะ
- ไม่กลั้นฉี่ หากปวดให้รีบเข้าห้องน้ำ
- ทานอาหาร ผัก ผลไม้ที่มีประโยชน์ เพื่อช่วยลดการอักเสบ ลดการกระตุ้นให้ให้เกิดการอักเสบบริเวณกระเพาะปัสสาวะ เช่น ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่
ในเบื้องต้นสามารถทานยาพราเซตามอล หรือยาในกลุ่มต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น ไอบูโพรเฟน เมเฟนามิก เพื่อรักษาตามอาการได้
แต่หากมีอาการมาก ควรเข้ารับการรักษาโดยแพทย์ เพื่อตรวจและทำการรักษาอย่างถูกวิธี รวมถึงรับประทานยาปฏิชีวนะตามคำแนะนำ เช่น เช่น ยาไตรเมโทพริมหรือยาไนโตรฟูแรนโทอิน เพื่อให้อาการหายได้เร็วขึ้น
ในผู้ที่เป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ที่มีอาการเพียงเล็กน้อย-ปานกลาง สามารถหายขาดเองได้ เพราะภูมิคุ้มกันในร่างกายจะค่อยๆ กำจัดเชื้อแบคทีเรียที่อยู่กระเพาะปัสสาวะออกไปได้เอง แต่อาจจะใช้เวลาสักระยะ เช่น 2-7 วัน ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลด้วย
แพทย์ผู้ก่อตั้ง รัตตินันท์ เมดิคอล เซ็นเตอร์