“ไข้เลือดออก” อาการเป็นอย่างไร มีวิธีรักษา และป้องกันอย่างไร?

ไข้เลือดออก อาการเป็นอย่างไร (dengue fever)

ไข้เลือดออก เป็นหนึ่งในโรคทำให้คนป่วย และล้มตายทุกปี ซึ่งสาเหตุหลักมาจาก “ยุง” ที่เป็นพาหะนำโรคมาสู่ร่างกายคน แต่ใช่ว่าหากเป็นแล้วต้องเสียชีวิตทุกราย เพียงแค่เรารู้ว่า อาการไข้เลือดออกนั้นเป็นอย่างไร? หรือหาวิธีป้องกันได้ ก็สามารถลดการเกิดโรคได้

ไข้เลือดออก - Dengue Fever คืออะไร เกิดจากสาเหตุใด?

ไข้เลือดออก ที่พบในประเทศไทยนั้น เกิดจากไวรัสเดงกี จึงเรียกชื่อว่า Dengue Fever (DF) หรือ Dengue Haemorrhagic Fever (DHF) ซึ่งมี “ยุง” เป็นพาหะนำโรค ในปัจจุบันมีการแพร่ระบาดของโรคอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ โดยจะพบผู้ป่วยได้ทุกจังหวัดและทุกภาคของประเทศ ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเดงกีพบได้ในผู้ป่วยทุกกลุ่มอายุ ปัจจุบันส่วนใหญ่พบในกลุ่มอายุ 10-25 ปี โดยในปีที่ผ่านมามีรายงานในผู้ป่วยอายุมากกว่า 15 ปี เพิ่มมากขึ้นมากเป็นร้อยละ 54

ไข้เลือดออกเป็นโรคที่แปรผันตามฤดูกาล โดยจะเริ่มมีผู้ป่วยมากขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายเมษายนของทุกปี และพบสูงสุดประมาณเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม (ฤดูฝน) หลังจากนั้นก็จะเริ่มลดลงเรื่อยๆ เนื่องมาจากในช่วงเดือนดังกล่าวเป็นช่วงฤดูฝน เมื่อมีฝนตกลงมาในภาชนะที่ยุงลายไปไข่ไว้ ก็จะไปช่วยเพิ่มการเกิดยุงลายได้มากขึ้น

ไข้เลือดออก ในประเทศไทย
กลับสู่สารบัญ

ความรุนแรงของโรค ไข้เลือดออก

เชื้อไวรัสเดงกีซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 4 สายพันธุ์ คือ DENV-1, DENV-2, DENV-3 และ DENV-4 โดยจะมียุงลายตัวเมียเป็นพาหะนำโรค เมื่อยุงลายดูดเลือดผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสเดงกี เชื้อจะเข้าไปฝังตัวภายในกระเพาะและต่อมน้ำลายของยุง โดยมีระยะฟักตัวประมาณ 8-12 วัน เมื่อยุงที่มีเชื้อไวรัสไปกัดคนอื่นๆ ต่อ เชื้อไวรัสก็จะเข้าสู่กระแสเลือดของผู้ที่โดนกัด ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกตามมา

ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกที่เคยได้รับเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใด ก็จะมีภูมิคุ้มกันเฉพาะสายพันธุ์นั้น หากได้รับเชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่ต่างออกไปจากครั้งแรก ก็จะสามารถเป็นไข้เลือดออกได้อีก และโดยทั่วไปอาการของโรคครั้งที่สองมักจะรุนแรงกว่าครั้งแรก ซึ่งในแต่ละปีพบว่ามีการกระจายของเชื้อทั้ง 4 สายพันธุ์หมุนเวียนกันไป และมีเชื้อที่เด่นแตกต่างกันไปในแต่ละปี ทำให้มีการระบาดของโรคมาโดยตลอด เนื่องจากประชาชนไม่มีภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัสสายพันธุ์นั้นๆ

กลุ่มเสี่ยง หากเป็น ไข้เลือดออก

ผู้ป่วยที่มีภาวะเสี่ยงต่ออาการรุนแรง หรือ เกิดภาวะแทรกซ้อน ได้แก่

  • เด็กทารก
  • ผู้สูงอายุ
  • หญิงตั้งครรภ์
  • ผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหาร
  • ผู้หญิงที่อยู่ระหว่างมีประจําเดือนหรือมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด
  • ผู้ที่มีโรคเม็ดเลือดแดงแตกง่าย หรือโรคที่เกิดจากฮีโมโกลบินผิดปกติ
  • ผู้ป่วยโรคหัวใจพิการแต่กําเนิด
  • ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด โรคหัวใจขาดเลือด ไตวาย ตับแข็ง
  • ผู้ที่รับประทานยากลุ่มสเตียรอยด์ หรือยาในกลุ่มยาแก้อักเสบทีไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-Steroidal Anti-Inflammatory หรือ NSAIDs)
ไข้เลือดออก เชื้อไว้รัส เดงกี (Dengue Fever)
กลับสู่สารบัญ

ไข้เลือดออก อาการเป็นอย่างไร?

โดยทั่วไปการติดเชื้อไวรัสเดงกีครั้งแรก ผู้ป่วยส่วนใหญ่ (80-90%) อาการจะไม่รุนแรง บางรายอาจมี ไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก และมีผื่นที่ผิวหนังได้ แต่ถ้าเป็นการติดเชื้อครั้งที่สอง โดยเชื้อไวรัสที่สายพันธุ์ต่างจากครั้งแรก อาจมีอาการรุนแรงเกิดเป็นภาวะไข้เลือดออกได้ โดยสามารถแบ่งลักษณะอาการของคนไข้ที่ติดเชื้อไวรัสเดงกี ออกเป็น 2 ชนิดคร่าวๆ ได้แก่

  1. ไข้เดงกี (Dengue fever) มักเกิดกับเด็กโตหรือผู้ใหญ่อาจมีอาการไม่รุนแรง คือมีเพียงอาการไข้ร่วมกับปวดศีรษะ เมื่อยตัว หรืออาจเกิดอาการที่ชัดเจนของไข้เดงกี คือ มีไข้สูงกะทันหัน ปวดศีรษะ ปวดรอบกระบอกตา ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก และมีผื่น บางรายอาจมีจุดเลือดออกที่ผิวหนัง
  2. ไข้เลือดออกเดงกี (Dengue hemorrhagic fever) มีอาการทางคลินิกเป็นรูปแบบที่ค่อนข้างชัดเจน คือ มีไข้สูงลอย ร่วมกับอาการเลือดออก ตับโต และมีภาวะช็อกในรายที่รุนแรง
ไข้เลือดออก อาการเป็นอย่างไร
กลับสู่สารบัญ

ไข้เลือดออก แบ่งออกเป็น 3 ระยะ

ไข้เลือดออก เดงกี (Dengue hemorrhagic fever)  แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะไข้ ระยะวิกฤต/ช็อก และระยะฟื้นตัว

1. ระยะไข้ ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเกือบตลอดเวลา มักไม่ค่อยตอบสนองต่อยาลดไข้ อาจมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และอาจมีผื่นหรือจุดเลือดออกตามลําตัว ตามแขนขา โดยที่ระยะนี้จะเป็นอยู่ประมาณ 2-7 วัน

2. ระยะวิกฤติ ระยะนี้ ไข้จะเริ่มลดลง โดยผู้ป่วยที่เกิดภาวะแทรกซ้อนเลือดออก อาการจะไม่ดีขึ้น ยังคงมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง อ่อนเพลีย มากกว่าเดิม ต่างกับผู้ป่วยทีไม่มีภาวะแทรกซ้อน ซึ่งอาการต่างๆ ค่อยๆ ดีขึ้น โดยผู้ป่วยที่อาการรุนแรง อาจเกิดภาวะช็อก มีความดันโลหิตต่ำ มือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเบาเร็ว ปัสสาวะออกน้อย ร่วมกับมีเลือดออกง่าย เช่น มีเลือดกําเดาไหล อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระมีสีดํา ซึ่งอาจทําให้เสียชีวิตได้ ระยะนี้กินเวลาประมาณ 24 – 48 ชั่วโมง ดังนั้น ถ้าผู้ป่วยมีไข้เกิน 2 วัน แล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อจะได้รับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม

3. ระยะฟื้นตัว อาการต่างๆ จะเริ่มดีขึ้น ผู้ป่วยจะอยากรับประทานอาหารมากขึ้น ความดันโลหิตสูงขึ้น ชีพจรเต้นแรงขึ้นและช้าลง ปัสสาวะออกมากขึ้น บางรายจะมีผื่นแดงและมีจุดเลือดออกเล็กๆ ตามลําตัว

ปัจจุบัน ยังไม่มียาต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพดีในการรักษาโรคไข้เลือดออก การรักษาประคับประคองที่ถูกต้อง ในเวลาที่เหมาะสม จะทําให้ผู้ป่วยกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ซึ่งในรายที่อาการไม่รุนแรงอาจหายได้เองภายใน 2-7 วัน
ยารักษา ไข้เลือดออก
กลับสู่สารบัญ

ไข้เลือดออก รักษาอย่างไร?

  1. ในช่วงที่มีไข้สูง บางรายอาจมีการชักได้ถ้าไข้สูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กที่มีประวัติเคยชัก หรือในเด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน จำเป็นต้องให้ทานยาลดไข้ และควรใช้ยาพวกพาราเซตามอล ห้ามใช้ยาพวกแอสไพริน เพราะจะทำให้เกล็ดเลือดเสียการทำงาน จะระคายกระเพาะอาหารทำให้เลือดออกได้ง่ายขึ้น และเมื่อไข้ลดต่ำกว่า 39 องศาเซลเซียสแล้ว ไม่ต้องให้ยาลดไข้ถ้าให้ยาลดไข้แล้วไข้ไม่ลงแนะนำให้เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นหรือน้ำธรรมดา ในเด็กโตหรือผู้ใหญ่อาจให้อาบน้ำอุ่น
  2. ควรทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย ถ้าเบื่ออาหารหรือรับประทานอาหารได้น้อย แนะนำให้ดื่มนม น้ำผลไม้หรือน้ำเกลือแร่ แทนน้ำเปล่า ถ้ามีอาเจียนมาก แนะนำให้จิบน้ำเกลือแร่ครั้งละน้อยๆ บ่อยๆ และควรงดรับประทานอาหารหรือน้ำที่มีสีแดง น้ำตาล ดำ เนื่องจากมีสีที่คล้ายเลือดอาจจะทำให้เกิดการวินิจฉัยที่คลาดเคลื่อน
  3. ถ้ายังพอดื่มน้ำได้และไม่มีอาการแสดงของภาวะขาดน้ำ ไม่จำเป็นต้องให้สารน้ำทางเส้นเลือด และจะต้องติดตามดูอาการอย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้ตรวจพบและป้องกันภาวะช็อกได้ทันเวลา ช็อกมักจะเกิดพร้อมกับวันที่ไข้ลดลง ประมาณตั้งแต่วันที่ 3 ของการป่วยเป็นต้นไป ทั้งนี้แล้วแต่ระยะเวลาที่เป็นไข้ ถ้าไข้ 7 วันก็อาจช็อกวันที่ 8 ได้
  4. ระหว่างที่ผู้ป่วยมีอาการช็อกจะมีความรู้สติดี สามารถพูดจาโต้ตอบได้จนดูเหมือนผู้ป่วยมีแต่ความอ่อนเพลียเท่านั้น และให้รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลเมื่อมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
    1. ไข้ลง และอาการไม่ดีขึ้น
    2. เลือดออกผิดปกติ
    3. อาเจียนมาก/ปวดท้องมาก
    4. กระหายน้ำตลอดเวลา
    5. ซึม ไม่ดื่มน้ำ
    6. มีอาการช็อก หรือ อาการนำของช็อก คือ มือเท้าเย็น, กระสับกระส่าย, ร้องกวนมากในเด็กเล็ก, ตัวเย็น, เหงื่อออก, ตัวลาย, ปัสสาวะน้อยลง หรือไม่ปัสสาวะ 4-6 ชั่วโมง, ความประพฤติเปลี่ยนแปลง เช่น พูดไม่รู้เรื่อง เพ้อ เอะอะโวยวาย
กลับสู่สารบัญ
ไข้เลือดออก ป้องกัน อย่างไร

ไข้เลือดออกป้องกันอย่างไร?

1. ระมัดระวัง ไม่ให้ยุงลายกัด โดยสวมใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดมิดชิด ใช้สารไล่ยุงชนิดต่างๆ รวมถึงป้องกันไม่ให้ยุงลายเข้ามาหลบซ่อนในบ้าน ทั้งนี้ ยุงลายมักกัดในเวลากลางวันมากกว่ากลางคืน

2. ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย บริเวณบ้านและใกล้เคียง ด้วยการปิดฝาภาชนะที่มีน้ำขังไม่ให้ยุงเข้าไปวางไข่ได้ เปลี่ยนน้ำในภาชนะที่ปิดไม่ได้ เช่น แจกัน ทุกสัปดาห์ ปล่อยปลากินลูกน้ำในอ่างบัว ปรับปรุงสภาพแวดล้อมบริเวณบ้านให้สะอาดปราศจากเศษวัสดุที่อาจมีน้ำขังได้ เช่น ขวดเก่า กระป๋องเก่า กล่องโฟม กะลามะพร้าว ยางรถยนต์ และนอนในมุ้งหรือในห้องที่มีมุ้งลวด

3. พ่นสารเคมีรอบบ้าน ผู้ป่วยรัศมีอย่างน้อย 100 เมตร กำจัดยุงลายที่มีเชื้อให้หมดโดยเร็วที่สุด เพื่อตัดวงจรการแพร่ระบาดโรค

4. พิจารณาฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก ในผู้ที่อายุ 9-45 ปี ที่เคยติดเชื้อไวรัสเดงกีมาก่อน โดยวัคซีนนี้จะออกฤทธิ์โดยเชื้อไวรัสที่อ่อนฤทธิ์ไปแบ่งตัวและกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ

โดยข้อบ่งใช้ที่ได้รับการรับรองจาก อย.ประเทศไทย คือ ใช้ป้องกันโรคไข้เลือดออกที่มีสาเหตุจากไวรัสเดงกี่ ทั้ง 4 สายพันธุ์ โดยจะต้องทำการฉีดวัคซีนทั้งหมด 3 เข็มเข้าใต้ผิวหนัง (Subcutaneous Injection) บริเวณต้นแขน แต่ละเข็มฉีดห่างกัน 6 เดือน เมื่อฉีดครบ 3 เข็มแล้วจะสามารถป้องกันไข้เลือดออกได้เป็นระยะเวลา 5-6 ปี

สำหรับประสิทธิภาพโดยรวมในการป้องกันเชื้อของทั้ง 4 สายพันธุ์จะอยู่ที่ประมาณ ร้อยละ 65 ลดความรุนแรงของโรคได้ร้อยละ 93.2 และลดอัตราการนอนโรงพยาบาลได้ร้อยละ 80.8

แต่อย่างไรก็ตาม จากงานวิจัยด้านความปลอดภัยเพิ่มเติมเมื่อพิจารณาเฉพาะกลุ่มที่ไม่เคยเป็นไข้เลือดออกมาก่อนนั้น การได้รับวัคซีนจะเพิ่มโอกาสการนอนโรงพยาบาล รวมทั้งเพิ่มความเสี่ยงการเกิดไข้เลือดออกรุนแรง ดังนั้น ทางอย.ประเทศไทยจึงได้ประกาศเพิ่มเติมว่าไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนในผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อไวรัสเดงกี่มาก่อน

Ref. คู่มือวิชาการโรคติดเชื้อเดงกีและโรคไข้เลือดออกเดงกีด้านการแพทย์และสาธารณสุข ปี พ.ศ. 2558 โดยสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และรักษาที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนารักษาที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า