รู้ทัน! โรคกระเพาะอาหาร อาการปวดท้องเรื้องรัง แผลในกระเพาะ หายขาดได้หากรักษาถูกวิธี

โรคกระเพาะอาหาร รักษาให้หายขาดได้

โรคกระเพาะอาหาร (Dyspepsia : Non-ulcer, ulcer) โดยปกติแล้วคนทั่วไปจะเข้าใจว่า เวลาที่เราปวดท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่เรื้อรังเป็นๆ หายๆ นั้นเป็นโรคกระเพาะอาหาร ที่จริงแล้วอาการปวดท้องบริเวณนี้อาจจะเกิดจากโรคอื่นๆ ก็ได้ เช่น โรคระบบทางเดินน้ำดี โรคตับอ่อน เป็นต้น แต่โรคกระเพาะอาหารก็เป็นกลุ่มโรคที่สำคัญที่ต้องนึกถึง ซึ่งโรคที่พบบ่อยๆ ได้แก่ โรคแผลในกระเพาะอาหาร โรคกระเพาะอาหารอักเสบ รวมถึงมะเร็งกระเพาะอาหารด้วย

โรคกระเพาะอาหาร คืออะไร?

โรคกระเพาะอาหาร มีทั้งชนิดที่เป็นแผล โดยอาจจะมีแผลในกระเพาะอาหาร (gastric ulcer) หรือแผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้น (duodenal ulcer) และชนิดที่ไม่เป็นแผล คือจะมีการอักเสบของเยื่อบุในกระเพาะอาหาร โดยอาจจะเรียกว่าโรคกระเพาะอาหารอักเสบ โดยอาการจะคล้ายคลึงกัน ซึ่งคนที่เป็น

โรคนี้แล้วก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ส่วนมากมักจะเป็นเรื้อรัง หรือบางคนเป็นนานๆ แล้วไม่ได้รักษาหรือปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง

ก็จะมีอาการเป็นๆ หายๆ และถ้าปล่อยให้เป็นมาก จะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

โรคกระเพาะอาหารอักเสบ

เป็นการอักเสบของเยื่อบุด้านในกระเพาะอาหารบางบริเวณเท่านั้น แบ่งเป็น

1. โรคกระเพาะอาหารอักเสบชนิดเฉียบพลัน หมายถึง โรคกระเพาะที่เป็นในระยะสั้นๆ ไม่เกิน 1-2 สัปดาห์ อาการก็ดีขึ้น

อาการสําคัญ คือจะปวดท้องหรือจุกแน่นบริเวณใต้ลิ้นปี่ มักเป็นเวลากินอาหารหรือหลังอาหารเล็กน้อย คลื่นไส้อาเจียน ในรายที่รุนแรงจะมีอาเจียนเป็นเลือดหรือถ่ายอุจจาระสีดําได้ ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย

สาเหตุที่พบบ่อย คือจากอาหารเป็นพิษ พิษสุรา และจากยาที่มีฤทธิ์ระคายเยื่อบุกระเพาะอาหาร เช่น ยาแอสไพริน (aspirin) และยาแก้โรคกระดูกและข้ออักเสบ

2. โรคกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง หมายถึง โรคกระเพาะที่เป็นนานเป็นเดือนหรือเป็นปี ผู้ป่วยมักมีอาการไม่มากหรือแทบไม่มีอาการอะไรเลย นอกจากแน่นท้องเป็นๆ หายๆ เท่านั้น

โรคกระเพาะอาหารอักเสบ เกิดจากอะไร
กลับสู่สารบัญ

โรคกระเพาะอาหาร เกิดจากสาเหตุใด ?

1. กระเพาะอาหารมีกรดมากขึ้น เนื่องจาก

  • เกิดการกระตุ้นของปลายประสาท ซึ่งเกิดจากความเครียด วิตกกังวลและอารมณ์
  • การดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มกาแฟ
  • การสูบบุหรี่
  • การกินอาหารไม่เป็นเวลา

2. มีการทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหาร เกิดจาก

  • การกินยาแก้ปวด ลดไข้ แก้ปวดกระดูก ปวดกล้ามเนื้อ ยาชุดที่มีแอสไพริน (NSAIDs/แอสไพริน) และยาสเตียรอยด์ (steroid) ยาลูกกลอนต่างๆ
  • การกินอาหารเผ็ดจัด และเปรี้ยวจัดจากน้ำส้มสายชู
  • การดื่มแอลกอฮอล์

3. การติดเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร Helicobacter pylori (H. pylori)

  • pylori เป็นเชื้อแบคทีเรียของการเกิดโรคกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นชนิดต่างๆ การกำจัดเชื้อนี้ทำได้ไม่ยาก เป็นแบคทีเรียที่มีลักษณะเป็นเกลียวและมีหาง ชอบอาศัยอยู่ในกระเพาะอาหารที่มีกรดสูงและชอนไชเข้าไปในเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น จนทำให้เกิดอาการอักเสบของระบบทางเดินอาหารส่วนต้นทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง ก่อให้เกิดโรคแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นรวมถึงโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
  • การติดเชื้อ H. pylori ในระบบทางเดินอาหารส่วนต้นพบได้ทั่วโลกและเป็นกันมากในประเทศด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนา โดยอาจมีอุบัติการณ์สูงถึง 60-70% ของประชากรในบางประเทศ พบมากในคนที่มีอายุมากขึ้น เชื่อว่าเชื้อนี้ติดต่อทางปากจากการรับประทานอาหารและน้ำดื่มที่มีเชื้อปนเปื้อนอยู่
  • เชื้อ H. pylori เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดแผล และภาวะแทรกซ้อนจากแผล (ulcer complications) ที่เกิดจากยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs/แอสไพริน) ดังนั้นการกำจัดเชื้อ H. pylori ก็จะสามารถลดการเกิดแผลจากยา NSAIDs/แอสไพริน และภาวะแทรกซ้อนจากแผลได้
โรคกระเพาะอาหารอักเสบ รักษาอย่างไร
กลับสู่สารบัญ

อาการที่พบบ่อยในคนที่เป็น โรคกระเพาะอาหาร

  • อาการที่พบได้บ่อยที่สุด คือมีอาการปวดหรือจุกแน่นท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่ หรือหน้าท้องช่วงบน มักเป็นเวลาท้องว่าง หรือเวลาหิว อาการจึงเป็นเฉพาะบางช่วงเวลาของวัน
  • อาการปวดแน่นท้อง มักจะบรรเทาได้ด้วยอาหารหรือยาลดกรด
  • อาการปวด มักจะเป็นๆ หายๆ โดยมีช่วงเว้นที่ไม่มีอาการค่อนข้างนาน เช่น ปวดอยู่ 1-2 สัปดาห์แล้วหายไปหลายเดือนแล้วค่อยกลับมาปวดอีก
  • ปวดแน่นท้องกลางดึกหลังจากที่หลับไปแล้ว
  • ถึงแม้ว่าจะมีอาการเรื้อรังเป็นปี แต่สุขภาพโดยทั่วไปจะไม่ทรุดโทรม
  • โรคแผลกระเพาะอาหาร จะไม่กลายเป็นมะเร็ง แม้จะเป็นๆ หายๆ อยู่นานกี่ปีก็ตาม นอกจากจะเป็นแผลชนิดที่เกิดจากโรคมะเร็งของกระเพาะอาหารตั้งแต่แรกเริ่มโดยตรง

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้จาก โรคกระเพาะอาหาร

  • อาเจียนเป็นเลือดดำหรือแดง หรือถ่ายดำเหลว เนื่องจากมีเลือดออกจากแผลในกระเพาะอาหาร
  • ปวดท้องช่วงบนอย่างทันทีทันใดและรุนแรง หน้าท้องแข็งตึง กดเจ็บ เนื่องจากแผลกระเพาะอาหารทะลุ
  • กินได้น้อย อิ่มเร็ว ปวดท้องและอาเจียนหลังจากรับประทานอาหารเกือบทุกมื้อ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดเนื่องจากการอุดตันของกระเพาะอาหาร

อาการของโรคกระเพาะอาหารจะไม่สัมพันธ์กับความรุนแรงของโรค บางรายไม่มีอาการปวดท้อง แต่มีแผลใหญ่มากในกระเพราะอาหาร หรือลำไส้ บางรายปวดท้องมากแต่ไม่มีแผลเลยก็ได้ 

กลับสู่สารบัญ

อาการอันตราย หากเป็นต้องรีบพบแพทย์ทันที (Alarming Symptom)

  • ถ่ายดำหรือถ่ายมีเลือดปน
  • น้ำหนักลด
  • ตัวซีด เหลือง (ดีซ่าน)
  • ปวดรุนแรงนานเป็นชั่วโมง
  • มีอาเจียนรุนแรงติดต่อกัน หรืออาเจียนมีเลือดปน
  • เจ็บหรือกลืนลำบาก
  • มีประวัติครอบครัวป่วยเป็นโรคกระเพาะอาหาร
  • คลำก้อนในท้องได้ หรือต่อมน้ำเหลืองโต

จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคกระเพาะอาหารหรือไม่?

  1. แพทย์จะวินิจฉันได้ถูกต้องจากการซักประวัติอาการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย เพื่อแยกโรคอื่นที่มีอาการคล้ายโรคกระเพาะ เช่น โรคถุงน้ำดี โรคตับ โรคตับอ่อน
  2. จากการเอกซเรย์ โดยการกลืนแป้งดูกระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น สามารถตรวจพบว่ามีแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็ก หรือไม่ อาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น สามารถตรวจพบว่ามีแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กหรือไม่
  3. การส่องกล้อง เพื่อตรวจดูกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก จะสามารถมองเห็นเยื่อบุกระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กว่ามีการอักเสบมีเลือดออก หรือมีแผลหรือไม่  ตลอดจนสามารถตัดเนื้อเยื่อออกมาตรวจพิสูจน์ได้ด้วย
วิธีตรวจหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ด้วยกล้อง
กลับสู่สารบัญ

แนวทางการรักษา โรคกระเพาะอาหาร

กรณีที่ 1 การรักษาผู้ป่วยที่มีอาการปวดจุกแน่นท้อง จุกเสียด ลมเรอ แสบท้อง มานานไม่เกิน 2 สัปดาห์ และไม่มีอาการเตือนที่สำคัญ มีแนวทางรักษา ดังนี้

  1. กำจัดต้นเหตุของการเกิดโรค ได้แก่
  • กินอาหารให้เป็นเวลา
  • งดอาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด
  • งดดื่มเหล้า เบียร์ หรือยาดอง
  • งดดื่มน้ำชา กาแฟ
  • งดสูบบุหรี่
  • งดเว้นการกินยา ที่มีผลต่อกระเพาะอาหาร เช่น ยาแก้ปวดลดอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs/แอสไพริน)
  • พักผ่อนให้เพียงพอ ผ่อนคลายคลายตึงเครียด
  1. รับประทานยาลดกรดในกระเพาะอาหาร โดยกินยาอย่างถูกต้อง คือต้องกินยาให้สม่ำเสมอ กินยาให้ครบตามจำนวน และระยะเวลา ที่แพทย์สั่งยารักษาโรคกระเพาะอาหาร ส่วนใหญ่ต้องใช้เวลาประมาณอย่างน้อย 4-6 อาทิตย์ แผลจึงจะหาย ดังนั้นภายหลังกินยา ถ้าอาการดีขึ้นห้ามหยุดยา ต้องกินยาต่อจนครบ และแพทย์แน่ใจว่าแผลหายแล้ว จึงจะลดยาหรือหยุดยาวได้

กรณีที่ 2 หากอาการไม่ดีขึ้นหลังปฎิบัติตามข้างต้น หรืออาการเป็นมานานกว่า 1 เดือน หรือมีอาการเตือนที่สำคัญ ต้องได้รับการวินิจฉัยเพิ่มเติม ด้วยการส่องกล้องกระเพาะอาหาร หากพบว่าผู้ป่วยมีแผลในกระเพาะอาหาร อาจต้องวินิจฉัยด้วยการตัดชิ้นเนื้อจากแผล เพื่อตรวจหาว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ ตัดชิ้นเนื้อจากส่วนล่างของกระเพาะอาหาร เพื่อดูว่ามีเชื้อโรคเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (H. pylori) หรือไม่ ถ้ามีเชื้อโรคดังกล่าวร่วมกับมีแผล ต้องให้ยากำจัดเชื้อโรค 2 สัปดาห์ และให้ยารักษาแผลอีก 4-6 สัปดาห์

กลับสู่สารบัญ

การดูแลตนเอง หากเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบ

ต้องนึกไว้เสมอว่า โรคแผลกระเพาะอาหารเป็นโรคเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ มักจะไม่หายขาดตลอดชีวิต ผู้ป่วยจําเป็นต้องได้รับยารักษาติดต่อกันเป็นเวลานาน หลังได้รับยาอาการปวดจะหายไปก่อน ใน 3-7 วัน แต่แผลจะยังไม่หาย ส่วนใหญ่ใช้เวลาถึง 4-8 สัปดาห์แผลจึงหาย เมื่อหายแล้วจะกลับมาเป็นใหม่อีกถ้าไม่ระวังและไม่ได้ปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง

  1. รักษาสุขอนามัย รับประทานอาหารและน้ำดื่มที่สะอาด เพื่อลดอัตราการติดเชื้อ เฮลิโคแบคเตอร์ไพโลไร ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดแผลกระเพาะอาหารและมะเร็งบางชนิดของกระเพาะอาหาร
  2. งดบุหรี่ งดเหล้า งดเผ็ด รับประทานอาหารให้ตรงเวลา ออกกำลังกายคลายเครียด
  3. งดกินยาแก้ปวดข้อ ปวดกระดูก โดยไม่จำเป็น
Ref.
https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/admin/article_files/359_1.pdf
https://www.gastrothai.net/source/content-file/191_1.Helicobacter%20Pylori.pdf

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า