ยาคุมฉุกเฉิน คืออะไร ?
ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน (emergency contraceptive pill หรือ morning-after pill) เป็นยาเม็ดฮอร์โมนขนาดสูงที่รับประทานหลังจากมีเพศสัมพันธ์แล้ว เพื่อลดโอกาสที่จะตั้งครรภ์ อันเนื่องมาจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่คาดการณ์หรือไม่พึงประสงค์ การถูกล่วงละเมิดทางเพศ การคุมกำเนิดด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง การคุมกำเนิดล้มเหลว ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินจึงใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น
ไม่สามารถใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินเพื่อแทนยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรับประทานสม่ำเสมอ (oral contraceptive pills) ได้ เนื่องจากยาคุมกำเนิดฉุกเฉินมีปริมาณฮอร์โมนสูง จึงเสี่ยงต่อการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้มาก อีกทั้งมีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ต่ำกว่ายาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรับประทานสม่ำเสมอ
ซึ่ง ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน หรือการคุมกำเนิดวิธีนี้ จะไปรบกวนการตกไข่ หรือรบกวนการปฏิสนธิของไข่กับอสุจิ แต่ถ้าหากได้รับการปฏิสนธิเป็นตัวอ่อนแล้ว จะไม่สามารถป้องกันได้
เพราะฉะนั้นยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน ไม่สามารถหยุดการตั้งครรภ์ที่เกิดขึ้น แล้ว และไม่ใช่ยาทำแท้ง
ยาคุมฉุกเฉิน มีหลายชนิด ดังนี้
- ชนิดฮอร์โมนรวม (Combined estrogen-progestin) ซึ่งในแต่ละเม็ดมีตัวยาสำคัญเป็นฮอร์โมนในกลุ่มเอสโตรเจน (estrogens) ผสมกับฮอร์โมนในกลุ่มโพรเจสติน (progestins)
- ชนิดที่มีเฉพาะฮอร์โมนโพรเจสติน (progestin-only emergency contraceptive pills)
- ชนิดยาต้านโพรเจสติน (emergency contraceptive pills containing an antiprogestin) เช่น mifepristone, ulipristal acetate
ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินชนิดที่มีเฉพาะฮอร์โมนโพรเจสติน
ตัวยาสำคัญในยาคุมกำเนิดฉุกเฉินชนิดนี้คือ ลีโวนอร์เจสเตรล (levonorgestrel) มี 2 ความแรง คือ เม็ดละ 0.75 และ 1.5 มิลลิกรัม สามารถให้ได้ทั้งขนาด
- 0.75 มิลลิกรัม ทั้งหมด 2 โดส ห่างกัน 12 ชั่วโมง หรือ
- 1.5 มิลลิกรัม เพียง 1 โดส
โดยทั้ง 2 วิธีได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (US FDA) ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดไม่ต่างกัน รวมไปถึงผลข้างเคียงไม่ต่างกันด้วย Levonorgestrel ยังคงได้ผลดี แม้จะใช้หลังมีเพศสัมพันธ์ 3-5 วันก็ตาม องค์การอนามัยโลกหรือ WHO จึงแนะนำให้ใช้ Levonorgestrel 1.5 มิลลิกรัม 1 โดส ได้ถึง 120 ชั่วโมง หลังมีเพศสัมพันธ์ ที่ไม่ได้ป้องกัน
ข้อบ่งชี้ในการคุมกำเนิดฉุกเฉิน : ยาคุมฉุกเฉิน กินตอนไหน?
- เมื่อไม่ได้มีการคุมกำเนิดก่อนหน้ามีเพศสัมพันธ์ ภายใน 120 ชั่วโมง
- เมื่อการคุมกำเนิดล้มเหลว หรือ ไม่ถูกวิธี ภายใน 120 ชั่วโมง รวมไปถึง
- ถุงยางอนามัยแตกรั่ว เลื่อนหลุด หรือใช้ไม่ถูกวิธี
- ลืมรับประทานยาคุมกำเนิดชนิดที่มี Ethinyl estradiol 30-35 mcg มากกว่า หรือเท่ากับ 3 ครั้ง ( มากกว่าหรือ เท่ากับ 2 ครั้ง สำหรับ 20 – 25 mcg )
- รับประทานยา Progestrin – only pill (minipill) ช้าไป 3 ชั่วโมง
- ฉีดยาคุมกำเนิด depot-medroxyprogesterone acetate (DMPA)ช้าไป 2 สัปดาห์หรือ มากกว่า
- มีการเลื่อนหลุด แตก ฉีกขาด หรือเพิ่งถอด หมวกครอบปากมดลูก (cervical cap)
- มีการเลื่อนหลุด แปะล่าช้า หรือเพิ่งถอด ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะ หรือ vaginal ring
- ล้มเหลวจากการหลั่งนอก ( เช่น มีการหลั่งในช่องคลอด หรือ อวัยวะเพศภายนอก )
- ล้มเหลวในการใช้ยาฆ่าอสุจิ ก่อนการมีเพศสัมพันธ์
- คำนวณระยะปลอดภัยผิดพลาด
- ห่วงคุมกำเนิดเลื่อนหลุด
ยาคุมฉุกเฉิน ออกฤทธิ์อย่างไร?
ตัวอสุจิสามารถรอดอยู่ได้ในทางเดินระบบสืบพันธุ์ผู้หญิงนานสุดถึง 5 วันหลังการมีเพศสัมพันธ์ หากไข่ตกภายในช่วง 5 วันนี้สามารถเกิดการปฏิสนธิ (fertilization) และอาจทำให้ตั้งครรภ์ได้ เป็นที่ยอมรับกันว่าการตั้งครรภ์เริ่มขึ้นเมื่อมีการฝังตัว (implantation) ของไข่ที่ผสมแล้ว ดังนั้นการออกฤทธิ์ของยาคุมกำเนิดฉุกเฉินจะต้องป้องกันไม่ให้เกิดการปฏิสนธิหรือไม่ให้เกิดการฝังตัว แต่จะไม่รบกวนการฝังตัวที่เกิดขึ้นเรียบร้อยแล้ว ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินจึงไม่ใช่ยาทำแท้ง ซึ่งช่วงหลังจากไข่ตกจนถึงช่วงที่จะเกิดการฝังตัวนั้นมีเวลาสั้นเพียงแค่ 6 วัน
การออกฤทธิ์ของ levonorgestrel ในยาคุมกำเนิดฉุกเฉินนั้นข้อมูลส่วนใหญ่ระบุถึงฤทธิ์รบกวนการตกไข่ ซึ่งการออกฤทธิ์ดังกล่าวถือเป็นกลไกที่สำคัญและมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการตั้งครรภ์ แม้จะมีการคาดคะเนว่ายาอาจออกฤทธิ์อย่างอื่นได้บ้าง เช่น ลดการสร้างเมือกและเพิ่มความหนืดของเมือกปากมดลูกซึ่งทำให้ตัวอสุจิไม่อาจเดินทางไปปฏิสนธิกับไข่ เพิ่มการบีบตัวของท่อนำไข่ เพิ่มการบีบตัวของมดลูกซึ่งทำให้ไข่ที่ปฏิสนธิแล้วมาถึงโพรงมดลูกในเวลาที่ไม่เหมาะสมในการฝังตัว ตลอดจนทำให้เยื่อบุมดลูกไม่พร้อมที่จะรับการฝังตัวของตัวอ่อน
กลับสู่สารบัญอาการแทรกซ้อน หลังทาน ยาคุมฉุกเฉิน
อาการไม่พึงประสงค์ของ levonorgestrel ในยาคุมกำเนิดฉุกเฉินที่อาจพบ เช่น
- มีเลือดคล้ายประจำเดือนออกผิดปกติหรือออกกะปริบกะปรอย
- ตกขาวเป็นสีน้ำตาล มักเกิดในช่วงสัปดาห์แรกหลังจากรับประทานยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน
- สำหรับประจำเดือนมักมาตรงเวลาหรืออาจคลาดเคลื่อนไปบ้างโดยมาเร็วหรือมาช้าไปราว 1 สัปดาห์
- อาจเกิดอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย ตึงเต้านม คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องช่วงล่าง ประจำเดือนมาก
- หากรับประทานยามากเกินไปอาจส่งผลทำให้เกิดความผิดปกติที่รังไข่ เยื่อบุโพรงมดลูก รวมทั้งเพิ่มความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์นอกมดลูก (หากการป้องกันล้มเหลว)
อย่างไรก็ตาม หากรับประทานตามขนาดที่แนะนำ ไม่พบอาการข้างเคียงที่ร้ายแรง ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยเมื่อมีการรับประทานยาซ้ำหลายครั้ง และไม่มีหลักฐานว่ายานี้ทำให้เกิดทารกพิการ (teratogenesis) ในกรณีที่การใช้ยาล้มเหลวแล้วเกิดการตั้งครรภ์ขึ้น
ใครที่ไม่เหมาะใช้ ยาคุมฉุกเฉิน
- คนที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป
- คนที่สูบบุหรี่จัด
- ผู้ที่อยู่ในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (โรค NCDs)
กลุ่มโรคไม่เรื้อรัง เช่น โรคอ้วน ลงพุง น้ำหนักตัวเกิน ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคลิ่มเลือดอุดตัน ความดันโลหิตสูง โรคเกี่ยวกับการทำงานผิดปกติของไตและตับ โรคตับแข็ง โรคมะเร็ง เป็นต้น - คนที่เป็นไมเกรนบางชนิด
บทความน่าสนใจที่เกี่ยวข้อง
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ 'ยาคุมฉุกเฉิน'
ยาคุมฉุกเฉิน ไม่ได้มีผลต่อการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อย่างที่ใครหลายคนเข้าใจ วิธีป้องกันโรคติดต่อ และสามารถคุมกำเนิดได้ดีที่สุด คือ การใช้ถุงยางอนามัย นอกจากนี้ ยาคุมฉุกเฉินยังไม่ก่อให้เกิดการแท้งได้ ดังนั้น ยาคุมฉุกเฉินไม่ใช่ยาทำแท้ง แต่สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้เท่านั้น เนื่องจากตัวยาเข้าไปในร่างกายก่อนที่จะมีการฝังตัวของไข่ที่เยื่อบุโพรงมดลูก แต่หากไข่ที่ผสมอสุจิได้ฝังตัวที่ผนังมดลูกไปแล้ว ประสิทธิภาพของยาก็จะไม่ได้ผล
คำถามที่พบบ่อย เรื่อง ยาคุมฉุกเฉิน
ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินกินตอนไหน? จะได้ผลดีเมื่อรับประทานยาภายในเวลา 72 ชั่วโมง (3 วัน) หลังการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน มีผลการวิจัยพบว่า อัตราการตั้งครรภ์ต่ำสุดเมื่อรับประทานภายใน 12 ชั่วโมงหลังการมีเพศสัมพันธ์ และอัตราตั้งครรภ์จะเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาที่ห่างออก โดยจะต่ำกว่าร้อยละ 1 เมื่อรับประทานภายใน 12 ชั่วโมง
และเพิ่มมากกว่าร้อยละ 3 เมื่อรับประทานใน 61-72 ชั่วโมงภายหลังร่วมเพศ ดังนั้น โดยทั่วไปจึงขอแนะนำให้รับประทานยาที่นึกได้โดยเร็วที่สุด และไม่แนะนำในกรณีที่ระยะเวลาเกินกว่า 72 ชั่วโมงไปแล้ว
ยาคุมฉุกเฉิน ที่มีใช้กันในบ้านเราจะเป็นชนิด ลีโวนอร์เจสเตรล (levonorgestrel) ความแรงเม็ดละ 0.75 มิลลิกรัม (หรือ 750 ไมโครกรัม) โดยให้รับประทานทั้งหมด 2 เม็ด เม็ดที่สองห่างจากเม็ดแรก 12 ชั่วโมง
แพทย์ผู้ก่อตั้ง รัตตินันท์ เมดิคอล เซ็นเตอร์