ไขมันพอกตับ โดยทั่วไปแล้วมักจะไม่แสดงอาการ จนกระทั่งได้ไปตรวจสุขภาพถึงรู้ว่ามีภาวะไขมันพอกตับ อีกทั้งโรคนี้ยังเกิดและพบได้บ่อยในกลุ่มคนที่เป็น โรคอ้วน หรือ อ้วนลงพุง ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้ หรือถูกสะสมเป็นระยะเวลานาน ก็จะทำให้อวัยวะหรือเซลล์ต่างๆ ภายในร่างกายถูกทำลาย และเกิดเป็นโรคมะเร็งตับได้ .. วันนี้เราจะพาไปรู้จักกับโรคไขมันพอกตับให้มากยิ่งขึ้นกันค่ะ
ไขมันพอกตับเกิดจากสาเหตุใด?
สาเหตุหลักๆ ของ โรคไขมันพอกตับ (liver disease) สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่
1. ไขมันพอกตับที่เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ (alcoholic fatty liver disease) โดยความรุนแรงของโรคก็จะขึ้นกับปริมาณ และระยะเวลาที่ดื่มแอลกอฮอล์
2. ไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์ (non-alcoholic fatty liver disease) คือโรคตับที่มีการสะสมของไขมัน ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ภายในเซลล์ตับ ซึ่งอาจเป็นเพียงภาวะไขมันสะสมอยู่ในเซลล์ตับ หรือมีอาการอักเสบของตับร่วมด้วย โดยไม่มีประวัติการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่มากพอที่ทำให้เกิดโรคตับ
ซึ่งปัจจัยเสี่ยงก็ได้แก่ พวกกลุ่มโรคเมตาบอลิก (metabolic syndrome) ก็คือ โรคอ้วนโดยเฉพาะการอ้วนแบบลงพุง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง หรือการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง น้ำตาลสูง เป็นประจำ นอกจากนี้ก็อาจจะเกิดจากผลข้างเคียงของการใช้ยาบางชนิดได้
ทำไมคนอ้วนถึงเป็นโรค ไขมันพอกตับ ?
ไขมันพอกตับ มักพบในคนที่เป็นโรคอ้วนลงพุง โดยมีความสัมพันธ์โดยตรงกับภาวะดื้อต่ออินซูลิน (Insulin resistance) เมื่อร่างกายเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน จะทำให้มีการปลดปล่อยกรดไขมันอิสระ (free fatty acid) จากเนื้อเยื่อไขมันเข้าไปสู่กระแสเลือดในปริมาณที่มาก
เมื่อมีกรดไขมันอยู่ในเลือดสูงขึ้น ตับที่ซึ่งปกติมีหน้าที่ในการเก็บสะสมพลังงานจากไขมัน ก็จะทำหน้าที่เก็บกรดไขมันที่อยู่ในเลือดเหล่านั้น เข้าไปเก็บสะสมไว้ที่ตับในรูปของไตรกลีเซอร์ไรด์ เมื่อสะสมไปเรื่อยๆ เป็นระยะเวลานานก็จะทำให้เกิดการอักเสบทำลายเซลล์ตับและเกิดพังผืดสะสมตามมา
ไขมันพอกตับ มีอาการอย่างไร?
โดยทั่วไปโรคไขมันพอกตับจะไม่แสดงอาการอะไร ถ้ามีอาการก็ไม่ได้เป็นอาการเฉพาะเจาะจงที่แสดงถึงโรคนี้ เช่น บางคนอาจจะมีอ่อนเพลีย ท้องอืด คลื่นไส้ เป็นต้น ซึ่งปกติแล้วจะตรวจพบว่าเป็นโรคนี้จากการตรวจสุขภาพประจำปี จากการตรวจเลือดดูค่าการทำงานของตับ หรืออัลตร้าซาวด์ตับ
ระยะของไขมันพอกตับ สามารถแบ่งได้เป็น 4 ระยะ
- ระยะที่ 1 มีแต่ไขมันสะสมในเซลล์ตับอย่างเดียว แต่ไม่มีการอักเสบร่วมด้วย
- ระยะที่ 2 เริ่มมีตับอักเสบเล็กน้อย
- ระยะที่ 3 มีตับอักเสบรุนแรงต่อเนื่อง ร่วมกับมีความผิดปกติของเซลล์ตับที่บวมโต
- ระยะที่ 4 เริ่มมีการตายของเซลล์ตับ มีพังผืดสะสมภายในตับร่วมด้วย เกิดตับแข็งและมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งตับ
ไขมันพอกตับ รักษาอย่างไร?
โรคไขมันสะสมในตับมีความสัมพันธ์กับโรคอ้วน ภาวะดื้อต่ออินซูลิน ไขมันในเลือดสูง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มโรคทางเมตาบอลิค การรักษาจึงมุ่งเน้นตามสาหตุในการเกิดโรคไขมันสะสมในตับ ด้วยการแก้ไขปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้โรคแย่ลง โดยการ
- ลดน้ำหนัก และควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์สมส่วน
- โดยการควบคุมอาหาร ร่วมกับออกกำลังกายสม่ำเสมอ โดยการออกกำลังกายแบบแอโรบิคที่เหมาะสมนานครั้งละ 30 นาที อย่างน้อย 5 ครั้ง/สัปดาห์
- อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงได้แก่ อาหารที่มีไขมันอิ่มตัว (saturated fatty acid) หรือ คาร์โบไฮเดรตสูง ส่วนอาหารที่ดีต่อภาวะไขมันพอกตับได้แก่ อาหารที่มีปริมาณคาร์โบไฮเดรตต่ำ มีไฟเบอร์สูง ถั่วเหลือง ร่วมกับน้ำมันปลา (fish oil) หรือ น้ำมันมะกอก(olive oil)
หากผู้ป่วยมี ดัชนีมวลกาย (BMI) มากกว่า 40 Kg/m2 อาจพิจารณาทำ ผ่าตัดรักษาโรคอ้วน ปัจจุบันการผ่าตัดลดความอ้วน (Bariatric surgery)ในผู้ป่วยโรคอ้วนระดับรุนแรง เป็นที่ยอมรับกันว่าได้ผลดีต่อทั้งการลดน้ำหนัก โรคแทรกซ้อนจากโรคอ้วน และคุณภาพชีวิตดีขึ้น
- ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน หรือเป็นโรคไขมันในเลือดสูงก็ควรควบคุมโรคดังกล่าวอย่างเต็มที่
โรคไขมันพอกตับ สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดโดยมีความสัมพันธ์กับโรคอ้วนลงพุง ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนทางโรคหัวใจและหลอดเลือด และอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนของตับแข็ง ตับวาย และมะเร็งตับ โดยการรักษาจะมุ่งแก้ไขภาวะดื้อต่ออินซูลินเป็นหลัก ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทั้งการควบคุมอาหาร ลดน้ำหนัก ออกกำลังกายแบบแอโรบิกอย่างสม่ำเสมอ การรักษาด้วยยายังมีข้อจำกัด อาจพิจารณาในผู้ป่วยที่ให้การรักษาโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วไม่ได้ผลหรือมีเบาหวานร่วมด้วย
อาการที่ดีต่อสุขภาพตับ
เช่น กระเทียม บีทรูท เลมอน อะโวคาโด บล็อกโคลี่ ผักโขม หอมใหญ่ ชาเขียว แครอท ขิง ข่า ขมิ้น เมล็ดวอลนัท ผักใบเขียว กะหล่ำปลี เป็นต้น
Ref : https://hunterdongastro.com/non-alcoholic-fatty-liver-disease-nafld/, http://www.gastrothai.net/source/content-file/108.vol91.pdf
แพทย์ผู้ก่อตั้ง รัตตินันท์ เมดิคอล เซ็นเตอร์