งูสวัด หนึ่งในโรคที่มักจะสร้างความเจ็บปวด ทรมาน หรืออาจะสร้างรอยแผลเป็นบนผิวหนังหลังหายจากโรคแล้วก็เป็นได้ วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับโรคนี้กันให้มากขึ้น ว่าสาเหตุที่แท้จริงของโรคงูสวัดนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร หากเป็นแล้วควรรักษาอย่างไร รวมถึงการป้องกันด้วย
งูสวัด เกิดจากอะไร?
งูสวัด ในภาษาอังกฤษ เรียกว่า “Shingles” หรือในทางการแพทย์จะมักเรียกกันว่า “herpes zoster infection” ซึ่งโรคงูสวัด เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า วาริเซลลา (varicellar virus) โดยเชื้อนี้จะก่อให้เกิดโรค 2 โรค ที่เรารู้จักกันดี ก็คือ อีสุกอีใส และ งูสวัด
เชื้อไวรัสนี้เมื่อเริ่มเข้าสู่ร่างกายทั้งจากการหายใจ หรือการสัมผัสตุ่มน้ำใสโดยตรง จะทำให้เป็นโรคสุกใส เมื่อหายจากโรคนี้แล้ว เชื้อจะไปหลบซ่อนอยู่ในปมประสาทของร่างกาย โดยไม่มีอาการอะไรเลยเป็นเวลาหลายๆ ปี จนกว่าร่างกายจะอ่อนแอ เริ่มมีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ คนสูงอายุ มีความ เครียด การติดเชื้อเอชไอวี การทานยากดภูมิ โรคเบาหวาน โรคไต เชื้อก็จะเริ่มแบ่งตัวเพิ่มจำนวนทำให้เส้นประสาทอักเสบ เกิดการปวดตามแนวเส้นประสาท และเกิดเป็นโรคงูสวัดได้ภายหลัง
งูสวัด อาการ เป็นอย่างไร?
เมื่อร่างกายอ่อนแอลง เริ่มมีภูมิคุ้มกันต่ำ คนไข้ที่เป็นงูสวัดจะมีอาการปวดแสบร้อนบริเวณผิวหนัง ครั่นเนื้อครั่นตัวเหมือนจะเป็นไข้ หลังจากนั้น 2-3 วัน มีผื่นแดงขึ้นตรงบริเวณที่ปวด แล้วกลายเป็นตุ่มน้ำใสอยู่บนผื่นแดง ผื่นมักเรียงกันเป็นกลุ่ม หรือเป็นแถวยาวตามแนวเส้นประสาท (Dermatome) ขึ้นตามใบหน้าหรือตามลำตัวก็ได้ แต่ไม่ข้ามเส้นกึ่งกลางลำตัว ต่อมาจะแตกออกเป็นแผล และจะตกสะเก็ด ซึ่งหายได้เองใน 2 สัปดาห์ และเมื่อแผลหายแล้ว อาจยังมีอาการปวดแสบร้อนตามแนวที่เคยขึ้นผื่นหรือตามแนวเส้นประสาทได้อยู่ เนื่องจากเชื้อไปทำให้เส้นประสาทบริเวณนั้นอักเสบ ซึ่งอาจจะเป็นแค่ 2-3 สัปดาห์หรือนานกว่านั้นได้ขึ้นอยู่กับภูมิต้านทานและการได้รับการรักษาที่ถูกต้อง
กลับสู่สารบัญงูสวัด ติดต่อไหม? ติดต่อได้อย่างไร?
งูสวัด ติดต่อกันได้ และติดต่อได้ง่ายด้วยการสัมผัสผื่นตุ่มน้ำใส หรือสะเก็ดแผลของคนไข้ที่เป็นงูสวัดอยู่ ซึ่งในคนที่ยังไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน ถ้าหากไปสัมผัสกับคนไข้ที่เป็นโรคงูสวัด บุคคลนั้นก็จะติดเชื้อแล้วเป็นโรคอีสุกอีใสก่อน จากนั้นเชื้อก็จะไปฝังตัวอยู่ที่ปมประสาท เพราะฉะนั้นผู้ที่มีอาการของโรคงูสวัดอยู่ แผลยังแห้งไม่หมด ควรแยกข้าวของเครื่องใช้ ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า ที่นอน ของตนเองกับผู้ที่ยังไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน ในคนไข้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือเป็นโรคงูสวัดแบบแพร่กระจาย สามารถแพร่กระจายเชื้อได้ทางการหายใจ ดังนั้นควรแยกตนเอง ไม่ใกล้ชิดกับผู้ที่ไม่เคยเป็นโรค เด็กเล็ก และหญิงตั้งครรภ์
การรักษา งูสวัด
– วิธีรักษาโรคงูสวัด หรือยาแก้งูสวัดนั้น จะใช้เป็นยาต้านไวรัส เช่น อะไซโคลเวียร์ (acyclovir) เป็นยาในกลุ่มต้านเชื้อไวรัส ที่ช่วยในการชะลอการเติบโตและแพร่กระจายของเชื้อไวรัส ซึ่งควรรับประทานภายใน 48-72 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ จะได้ผลดีที่สุด ช่วยทำให้ผื่นหายเร็วขึ้นและลดความรุนแรงของโรค รวมถึงลดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ และลดอาการเจ็บแสบเส้นประสาทภายหลังได้ ซึ่งยารักษานั้นจะไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้ ทำได้เพียงช่วงทำให้การอักเสบลดลงเท่านั้น สุดท้ายแล้วเชื้อจะกลับไปฝังที่ปมประสาทตามเดิม ซึ่งหากภูมิคุ้มกันอ่อนแออีกก็สามารถกลับมาเป็นใหม่ได้
- รับประทานยาแก้ปวด
- ประคบแผลด้วยน้ำเกลือ จะช่วยทำให้แผลแห้งขึ้น ครั้งละประมาณ 15 นาที 3 ครั้งต่อวัน
- ในคนที่ติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน อาจจะต้องได้รับยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียชนิดทาหรือ รับประทานร่วมด้วย
- อาบน้ำฟอกสบู่ให้สะอาด เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย และกลายเป็นแผลเป็น
- ไม่ควรไปพ่นยา พ่นน้ำมนต์หรือเหล้าขาว หรือเสกเป่า ลงไปบริเวณแผลหรือตุ่มน้ำ เพราะจะทำให้ติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเข้าไป ทำให้แผลหายช้า และกลายเป็นแผลเป็นได้
ปัจจุบันยังมีวิธีที่ช่วยลดอาการปวดปลายประสาทหลังจากเป็นงูสวัด (Postherpetic Neuralgia, PHN) โดยการใช้เลเซอร์ที่มีความเข้มข้นต่ำ Low-level laser therapy (LLLT) จากการศึกษา พบว่า LLLT สามารถช่วยลดการอักเสบ โดยจะไปลดระดับสารที่ทำให้เกิดกระบวนการอักเสบ หรือเรียกว่า สารตั้งต้นของการอักเสบ (proinflammatory cytokines) ซึ่งสารพวกนี้มีบทบาทสำคัญในการเกิดอาการปวดปลายประสาทหลังจากเป็นงูสวัด แต่จะได้ผลดีมากๆ เมื่อได้ทำเลเซอร์ LLLT ภายในช่วงไม่เกิน 5 วันแรก ที่เริ่มเป็นงูสวัด
โดยปกติแล้วถ้ามารับการรักษาอย่างรวดเร็วและถูกต้อง มักจะไม่ทิ้งรอยแผลเป็นไว้เมื่ออาการของโรคหายสนิท แต่ถ้ารักษาผิดวิธี อาการเป็นมากขึ้น ติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนเข้าไป ก็มีโอกาสที่จะทำให้เกิดแผลเป็น (Scar) ตามมาได้ ปัจจุบันก็มีเลเซอร์ที่ช่วยรักษารอยแผลเป็นให้ดีขึ้น ได้ เช่น Picosecond laser, ProYellow laser เป็นต้น
บทความที่เกี่ยวข้อง
PICO SECOND LASER เลเซอร์หน้าใส รักษากระ ฝ้า หลุมสิว รูขุมขนกว้าง
ภาวะแทรกซ้อนจาก งูสวัด ที่เกิดได้ มีอะไรบ้าง?
- อาการปวดตามแนวเส้นประสาทเรื้อรัง (Postherpetic Neuralgia, PHN) แม้ผื่นจะหายหมดแล้วมักเป็นอาการปวดลึกๆ หรือในบางคนก็มีอาการแสบ คัน
- ถ้ามีผื่นขึ้นบริเวณดวงตา อาจจะทำให้การมองเห็นของตาข้างนั้นลดลง
- มีผื่นบริเวณหู อาจทำให้การได้ยินลดลง หรือทำให้ใบหน้าซีกนั้น เกิดอัมพาต ปากเบี้ยว หรือหลับตาข้างนั้นไม่สนิทได้
- ถ้าหากร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำมากๆ เชื้ออาจกระจายเข้าสู่สมอง และอวัยวะภายในอื่นๆได้
- ในบางกรณีอาจเกิดความรุนแรง เช่น เชื้อกระจายไปยังอวัยวะสำคัญ ทำให้เกิดปอดอักเสบ หรือ เยื้อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งทำให้เสียชีวิตได้
งูสวัด ป้องกันได้หรือไม่ ?
ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด โดยสามารถลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคงูสวัดได้ หรือถ้าหากว่าเกิดการติดเชื้อไปแล้ว ก็จะสามารถลดความรุนแรงของอาการงูสวัดลงได้ และลดอาการปวดตามแนวเส้นประสาทเรื้อรังหลังการติดเชื้อได้ โดยแนะนำให้ฉีดในคนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป หรือในคนที่มีโรคเรื้อรังอื่นๆ ที่ทำให้ภูมิต้านทานไม่แข็งแรง อาจเข้ารับการฉีดก่อนอายุ 60 ปีได้ โดยข้อมูลปัจจุบันพบว่าวัคซีน 1 เข็มสามารถป้องกันโรคได้ประมาณ 10 ปี
ข้อห้าม การใช้วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด
- ห้ามใช้วัคซีนป้องกันงูสวัด กับผู้ที่แพ้เจลาติน , ยานีโอมัยซิน หรือแพ้สารประกอบในวัคซีน (ผู้ที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีน ต้องทำการตรวจเช็คและปรึกษาแพทย์ก่อน)
- หญิงตั้งครรภ์
- ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือ โรคที่มีผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกัน เช่น ผู้ป่วยมะเร็ง , ผู้ติดเชื้อ HIV
สมุนไพรรักษางูสวัด
สมุนไพรรักษางูสวัด เป็นอีกหนึ่งการรักษาแบบทางเลือก โดยเฉพาะสมุนไพรไทยนั้นมีอยู่หลากหลายชนิด ที่มีสรรพคุณช่วยรักษา บรรเทาอาการของโรคผิวหนังได้ดี แต่หากผู้ป่วยต้องการรักษางูสวัดโดยใช้สมุนไพร ก็ควรเข้ารับคำปรึกษาหรือแนะนำจาก แพทย์แผนไทย ซะก่อน เพราะไม่เช่นนั้นอาจทำให้เกิดโทษมากกว่าจะได้รับการรักษา
- เสลดพังพอน(ตัวเมีย) หรือ พญายอ มีสรรพคุณที่ช่วยในการรักษาโรคผิวหนัง มีฤทธิ์ช่วยลดการอักเสบของผิว ทำให้แผลตกสะเก็ดและแห้งไวขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดคัน ลดปวดได้ดี สามารถใช้ได้ทั้งแบบสด หรือจะแปรรูปเป็นยา-สารสกัดในรูปแบบต่างๆ เช่น ครีม เจล หากใช้แบบสด ให้นำใบประมาณ 20 ใบ ตำผสมพร้อมกับน้ำซาวข้าว เพื่อใช้ดื่มก่อนอาหารเพื่อขับพิษ
- พุตตาน ไม้ประดับที่มีสรรพคุณเย็น สามารถนำใบมาตำผสมพร้อมกับน้ำซาวข้าว ตำให้ละเอียด แล้วนำมาใช้ทาบริเวณที่เป็นงูสวัด
- ว่านหางจระเข้ มีสรรพคุณที่ช่วยในการรักษาแผลเป็น บรรเทาอาการแสบร้อน หลังจากปลอกเปลือกและยางออก ให้นำวุ้นใสมาแปะที่แผลช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น
- น้อยหน่า หรือ น้อยหน่าตายพราย (ผลแห้งของน้อยหน่า) นำมาฝนผสมน้ำ แล้วนำมาทาแผลงูสวัด อีสุกอีใส
สมุนไพรไทยอื่นๆ ที่ช่วยลดอาการปวดแสบปวดร้อน ช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น มีฤทธิ์ดับพิษ เช่น ใบย่านาง มะรุม รางจืด ตำลึง ฟ้าทะลายโจร เป็นต้น
เมื่อเป็นงูสวัด ห้ามกินอะไร?
เมื่อมีอาการของโรคงูสวัด ก็ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้หลากหลาย ทั้งอาหารที่มีโปรตีน เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ เพื่อให้มีสารอาหารครบถ้วน และได้รับวิตามินในการทำให้แผลหายดีขึ้น แต่ก็มีบางการศึกษาพบว่า ควรหลีกเลี่ยงอาหารบางชนิดขณะเป็นโรคงูสวัด เช่น
- อาหารที่มี สารอาร์จีนิน (Arginine) สูง ซึ่งสารตัวนี้เป็นกรดอะมิโนชนิดหนึ่งซึ่งมีส่วนทำให้เชื้อไวรัสวาริเซลลา ซอสเตอร์ (Varicella Zoster Virus: VZV) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสซึ่งทำให้เกิดโรคงูสวัด และโรคอีสุกอีใสแบ่งตัว และลุกลามออกไปมากขึ้น ได้แก่พวก ช็อกโกแลต ถั่ว เมล็ดพืช ทูน่ากระป๋อง เจลาติน มะเขือเทศ
- อาหารที่มีน้ำตาลสูง เนื่องจากน้ำตาล เป็นสารอาหารที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันเสื่อมสภาพลงมากกว่าเดิม อีกทั้งยังไปยับยั้งการทำงานของเม็ดเลือดขาวในการขจัดเชื้อไวรัสให้ออกไปจากร่างกาย ในระหว่างรักษาโรคงูสวัด ให้หลีกเลี่ยงอาหาร เครื่องดื่ม รวมถึงขนมที่มีน้ำตาลสูง
- อาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง เพราะการรับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ หรือไขมันไม่อิ่มตัวในปริมาณที่เหมาะสมแทน จะช่วยสร้างเสริมภูมิคุ้มกันในร่างกายให้แข็งแรงขึ้น ทั้งยังควบคุมเชื้อไวรัส VZV ไม่ให้แพร่กระจายมากเกินไปจนเกิดเป็นโรคงูสวัด
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากเป็นตัวขัดขวางการฟื้นตัวของร่างกายขณะรักษาโรคงูสวัด และทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานช้าลง ทำให้อาการของโรคหายช้า
อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังไม่ได้มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่าจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงอาหารเหล่านี้หรือไม่
บทความที่เกี่ยวข้อง
Pro Yellow รักษารอยแดง รอยสิว ปลอดภัย
คำถามยอดนิยม งูสวัด
ไม่จริง โดยปกติแล้ว งูสวัดจะเกิดตุ่มใสหรือผื่นในบริเวณแนวเส้นประสาท และจะเกิดขึ่นเพียงซีกใดซีกหนึ่งของร่างกายเท่านั้น และแผลที่เกิดขึ้นจะลุกลากมาก-น้อยเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับร่างกายของผู้ป่วยว่าภูมิคุ้มกันต่ำหรือไม่ หากภูมิคุ้มกันต่ำยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อน หรืออันตรายถึงชีวิตได้
สามารถเกิดขึ้นได้ อย่างที่กล่าสข้างต้นว่า เชื้อไวรัสนี้สามารถฝังตัวอยู่ในปมประสาทในร่างกายของเรา โดยไม่แสดงอาการเป็นเวลาหลายปี จนเมื่อเวลาร่างกายอ่อนแอ หรือภูมิคุ้มกันต่ำ เชื้อพวกนี้ก็จะแสดงอาการ เพราะฉะนั้น ต้องดูแลร่างกาย และรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ ไม่ว่าจะการรักษาสุขอนามัยขั้นพื้นฐาน การล้างมือให้สะอาด ฯลฯ
ไม่ได้ ถึงแม้งูสวัดและอีสุกอีใส จะมีเชื้อมาจากไวรัสตัวเดียวกัน แต่ยาหรือวัคซีนที่ใช้ในการรักษานั้นมีความจำเพาะของแต่ละการรักษา ดังนั้นฉีดวัคซีนงูสวัดจึงไม่สามารถป้องกันอีสุกอีใสได้
เนื่องจากโรคงูสวัดนั้นเกิดขึ้นจากการที่ร่างกายอ่อนแอ หรือเกิดในคนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำมากๆ ซึ่งผู้ป่วยควรเข้ารับการตรวจกับแพทย์เพิ่มเติมเพื่อตรวจหาสาเหตุ เพราะอาจมีความเสี่ยงเป็นโรคเอดส์ มะเร็ง หรือภาวะเครียดรุนแรงได้
มีความเป็นไปได้ เนื่องจากการเก็บข้อมูลของสถาบันโรคผิวหนังในแต่ละปี จะพบผู้ป่วยที่เป็นโรคงูสวัดเพิ่มขึ้น เฉลี่ยมากกว่าปกติ 10% ในช่วงฤดูหรืออากาศเปลี่ยนแปลง โยยจะมีอาการตามระยะของโรค เช่น มีไข้ต่ำ ปวดเมื่อย เจ็บปวด แสบร้อนที่ผิวหรือร่างกาย เกิดตุ่มแดงและตุ่มน้ำพองใส จนเกิดเป็นแนวยาวตามเส้นประสาท
โรคงูสวัด นั้นไม่อันตรายถึงขั้ยเสียชีวิต หากรู้วิธีรักษาและการป้องกันที่ถูกต้องและรวดเร็ว ซึ่งในปัจจุบันนั้นมีการรักษาหลายวิธี ทั้งทานยาและฉีดวัคซีน ทั้งนี้ทั้งนั้นการป้องกันที่ดีที่สุด ก็คือจากตัวเราเอง ทำร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ รักษาความสะอาด สุขอนามัยที่ดี เป็นต้น
Ref.
https://dermnetnz.org/topics/herpes-zoster/
https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/shingles/symptoms-causes/syc-20353054
https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/shingles/shingles-skin#1
แพทย์ผู้ก่อตั้ง รัตตินันท์ เมดิคอล เซ็นเตอร์