ทอนซิลอักเสบ (tonsillitis) เกิดจากการอักเสบของต่อมทอนซิลบริเวณเนื้อเยื่อ มักจะมีอาการให้เห็นเด่นชัด เช่น เจ็บคอ กลืนอาหารลำบาก หรือรู้สึกเจ็บคอจณะกลืนอาหาร เป็นต้น ซึ่งหากเมื่อรู้ตัวว่าเป็นทอนซิลอักเสบ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษา ลดการแพร่เชื้อของไวรัส หรือเชื้อโรคลุกลามไปยังส่วนอื่นๆ
สารบัญ
- ต่อมทอนซิล (tonsils) คืออะไร
- ทอนซิลอักเสบ และคออักเสบ เหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร
- ทอนซิลอักเสบ เกิดจากอะไร
- อาการของโรค ทอนซิลอักเสบ
- ภาวะแทรกซ้อนจากทอนซิลอักเสบ
- ทอนซิลอักเสบ มีวิธีรักษาอย่างไร
- การดูแลตนเองเมื่อเป็น ทอนซิลอักเสบ
- ต้องทำอย่างไร? เมื่อเป็นต่อมทอนซิลอักเสบบ่อยๆ
- ข้อเสียของการตัดต่อมทอนซิล
ต่อมทอนซิล (tonsils) คืออะไร ?
ต่อมทอนซิล (tonsils) ที่เรารู้จักกันนั้น จริงๆ แล้วก็คือกลุ่มของต่อมน้ำเหลืองชนิดหนึ่ง พบได้หลายตําแหน่ง โดยต่อมที่เรามองเห็นจะอยู่ด้านข้างของช่องปาก มีชื่อเรียกว่า พาลาทีนทอนซิล (palatine tonsil) นอกจากนี้ต่อมทอนซิลยังพบได้ที่บริเวณโคนลิ้น (lingual tonsil) และช่องหลังโพรงจมูก (adenoid tonsil) ต่อมทอนซิลมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยภายในต่อมจะมีเม็ดเลือดขาวหลายชนิด หน้าที่หลักๆ คือ จับและทำลายเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายผ่านทางเดินอาหาร หน้าที่รองลงมาคือ สร้างภูมิคุ้มกัน
ทอนซิลอักเสบ และ คออักเสบ เหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร?
- ทอนซิลอักเสบ (tonsillitis)
เป็นภาวะที่มีการอักเสบของต่อมทอนซิล ส่วนใหญ่แล้วโรคต่อมทอนซิลจะพบมากที่สุดในเด็กอายุก่อน10ปี เพราะหลัง 10 ปีไปแล้วต่อมทอนซิลจะทำงานน้อยลงหรือไม่ทำงานเลย แต่ในผู้ใหญ่อายุน้อยกว่า 20ปี ก็ยังเป็นโรคต่อมทอนซิลอักเสบได้ ส่วนใหญ่มักจะไม่พบทอนซิลอักเสบในคนไข้วัยกลางคนไปแล้ว
- คออักเสบ (pharyngitis)
มักใช้เรียกภาวะอักเสบของเนื้อเยื่อในลำคอที่อยู่บริเวณหลังช่องปากเข้าไป บางครั้งภาวะทั้งสองอาจเกิดพร้อมกันได้ ซึ่งสาเหตุก็เกิดจากการรับเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย รวมไปถึงการติดเชื้อรา พฤติกรรมบางอย่างก็อาจเป็นปัจจัยเสริมทำให้เกิดการอักเสบในลำคอ
เช่น รับประทานอาหารทอด ของมัน อาหารรสจัด ชา กาแฟ น้ำอัดลม รับประทานไม่ตรงเวลา เข้านอนหลังรับประทานอาหาร รวมถึงการดื่มสุรา และสูบบุหรี่ อาจส่งผลให้เกิดการอักเสบ ส่งผลให้มีการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น เนื่องจากกลไกการป้องกันการติดเชื้อลดลง
ทอนซิลอักเสบ เกิดจากอะไร?
โรคทอนซิลอักเสบเฉียบพลัน (Acute tonsillitis) อาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย พบเชื้อรา หรือเชื้อวัณโรคได้น้อย
- โรคทอนซิลอักเสบเฉียบพลัน ในเด็กก่อนวัยเรียน มักจะเกิดจากเชื้อไวรัส และติดต่อกันได้ง่าย เพราะไม่รู้จักการป้องกัน การติดต่อเกิดจากการหายใจ ไอ จาม ใช้ภาชนะที่รับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำรวมกัน
- โรคทอนซิลอักเสบเฉียบพลัน ในเด็กโตและผู้ใหญ่มักจะเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
อาการของโรค ทอนซิลอักเสบ (tonsillitis)
ผู้ป่วยที่มีทอนซิลอักเสบเฉียบพลัน จะมีอาการหลักๆ คือ อาการไข้ หนาวสั่น เจ็บคอ กลืนลำบาก โดยเฉพาะเวลากลืนอาหารจะเจ็บมาก หรืออาจมีอาการอาเจียนหลังจากรับประทานอาหาร เพราะการรับประทานอาหารจะรบกวนลำคอที่เจ็บอยู่ รวมถึงอาจจะมีกลิ่นปาก เสียงเปลี่ยน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดที่บริเวณหู และต่อมน้ำเหลืองที่คอโต
อาการของโรคต่อมทอนซิลอักเสบในเด็ก อาการที่สำคัญ คือไข้และเจ็บคอ แต่ในเด็กเล็กที่ยังไม่สามารถบอกอาการได้จะมาพบด้วยอาการน้ำลายไหลผิดปกติหรือไม่รับประทานอาหาร
ส่วนอาการอื่นๆ ที่พบร่วมได้ขึ้นกับเชื้อที่เป็นสาเหตุ เช่น
- ถ้าเป็นจากเชื้อไวรัส จะพบอาการคล้ายโรคหวัด คือ มีน้ำมูก คัดจมูก จาม อาจพบตาแดง น้ำตาไหล เสียงแหบ เด็กบางคนอาจตรวจพบมีแผลในปากหรือเป็นตุ่มน้ำใส ผื่นตามตัว หรือมีคลื่นไส้อาเจียนท้องเสียร่วมด้วย
- ถ้าเป็นจากเชื้อแบคทีเรีย จะมีอาการไข้สูง เจ็บคอมาก ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง โดยอาการจะเป็นไปอย่างรวดเร็ว ตรวจพบทอนซิลอักเสบเป็นหนอง หรือทอนซิลบวมแดงจัด อาจมีต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอส่วนหน้าบวมและกดเจ็บ
ภาวะแทรกซ้อนจาก ทอนซิลอักเสบ
ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษา การอักเสบของต่อมทอนซิล อาจจะกระจายกว้างออกไป เกิดการลุกลามของเชื้อไปยังบริเวณใกล้เคียง (suppurative complications) ได้แก่
- หูชั้นกลางอักเสบ (otitis media)
- หนองบริเวณรอบต่อมทอนซิล (peritonsillar abscess)
- ลุกลามของเชื้อไปยังเนื้อเยื่อชั้นลึกของบริเวณคอหรือไปส่วนอื่นๆ (retropharyngeal abscess)
- อาจลุกลามผ่านช่องคอเข้าสู่ช่องปอดและหัวใจได้
นอกจากนั้น เชื้อแบคทีเรียอาจเข้ากระแสเลือด (septicemia) แล้วกระจายไปทั่วร่างกาย ซึ่งเป็นภาวะที่อันตรายอย่างมาก เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้
ซึ่งโรคทอนซิลอักเสบเฉียบพลันที่เกิดจากเชื้อสเตร็ปโตคอคคัส (Streptococcus) สามารถทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนของโรคหัวใจ (rheumatic fever /rheumatic heart disease) และโรคไตได้ (acute glomerulonephritis)
ทอนซิลอักเสบ มีวิธีรักษาอย่างไร ?
1. ให้การรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาลดไข้ ร่วมกับเช็ดตัวลดไข้ในกรณีที่มีไข้ เช่นเดียวกับการติดเชื้ออื่นๆ ให้ยาลดน้ำมูก ให้ยาบรรเทาอาการเจ็บคอ
- สำหรับยาอมต่างๆ มักมียาชาเป็นส่วนประกอบ หรือยากลั้วคอมักมีสารเคมีที่ใช้ทําลายหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ (antiseptics) ไม่สามารถทำลายเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียหรือลดอาการ ไม่ควรใช้ในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี เพราะอาจเกิดการสำลักได้ ในกรณีที่เด็กกลืนลงไปในปริมาณมาก อาจจะอาเจียนหรือมีผลข้างเคียงต่อระบบประสาท ระบบหัวใจ จึงไม่แนะนำให้ใช้ในเด็กเล็ก
2. การให้ยาต้านจุลชีพ หรือยาฆ่าเชื้อ เพื่อกำจัดเชื้อต้นเหตุถ้าการอักเสบนั้นเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ควรรับประทานยาดังกล่าวให้นานพอ 7-10 วัน การใช้ยาฆ่าเชื้อในการติดเชื้อไวรัสพบว่าไม่มีประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นการหวังผลป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน หรือลดระยะเวลาของอาการ เพราะยาต้านจุลชีพ ไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้
- ซึ่งในปัจจุบันยาในกลุ่มเพนนิซิลินยังใช้ได้ผลดี ยกเว้นเชื้อบางกลุ่มที่พบว่าดื้อยาแล้ว แพทย์จึงจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะที่แรงขึ้น
- ในรายที่มีอาการมากๆ เช่น เจ็บคอมากจนรับประทานอาหารไม่ได้และมีไข้สูง แพทย์อาจแนะนำให้นอนพักรักษาในโรงพยาบาล เพื่อให้น้ำเกลือ และยาต้านจุลชีพทางหลอดเลือดดำ ซึ่งจะทำให้อาการทุเลาดีขึ้นเร็วกว่าการให้ยากลับไปรับประทานที่บ้าน
การดูแลตนเองเมื่อเป็น ทอนซิลอักเสบ
- รับประทานอาหารอ่อน ๆ เช่น โจ๊ก หรือข้าวต้มที่ไม่ร้อนจนเกินไป
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเผ็ด หรือรสจัด
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์
- หลีกเลี่ยงการใช้เสียงชั่วคราว
- ควรพยายามทำความสะอาดคอบ่อย ๆ โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหาร ด้วยการแปรงฟันหรือกลั้วคอด้วยน้ำยาบ้วนปากที่ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เพื่อลดการระคายเคือง หรือเราอาจจะทำน้ำเกลืออุ่นๆ โดยใช้เกลือป่นประมาณ1 ช้อนชา ละลายน้ำอุ่น 1 แก้ว ใช้บ้วนปากได้ดี และปลอดภัยหรือถ้าไม่มีก็ใช้น้ำเปล่าบ้วนหลังอาหารทุกมื้อ เนื่องจากการที่ไม่รักษาความสะอาดในช่องปากให้ดี อาจมีเศษอาหารตกค้างในช่องปากและลำคอ ทำให้ทอนซิลอักเสบมากขึ้นได้
- ควรดื่มน้ำเย็น รวมถึงไอศกรีมที่เป็นของเย็นก็สามารถกินได้ เนื่องจากความเย็นจะช่วยลดอาการปวด ลดบวมและลดอาการอักเสบได้
อย่างไรก็ตาม หากมีอาการเป็นหวัดและเจ็บคอจากสาเหตุอื่น ที่ไม่ใช่ต่อมทอนซิลอักเสบ แนะนำให้ดื่มน้ำที่อุณหภูมิปกติจะดีที่สุด
ต้องทำอย่างไร? เมื่อเป็นต่อมทอนซิลอักเสบบ่อยๆ
หากเป็นต่อมทอนซิลอักเสบเฉียบพลันบ่อย ๆ ต่อมทอนซิลจะโตขึ้น แล้วเปลี่ยนสภาพเป็นแบบเรื้อรัง และอาจมีการอักเสบอย่างเฉียบพลันเป็นๆ หายๆ ได้ การที่ต่อมทอนซิลโตจะทำให้เกิดร่องหรือซอก ซึ่งเศษอาหารอาจเข้าไปตกค้างอยู่ได้ ทำให้เกิดการอักเสบยืดเยื้อออกไป การผ่าตัดเอาต่อมทอนซิลออกจึงเป็นทางเลือกในการรักษาอีกทางหนึ่ง เพื่อไม่ให้เกิดโรคต่อมทอนซิลติดเชื้อบ่อยๆ
โดยทั่วไป แพทย์จะพิจารณาตัดต่อมทอนซิล เมื่อ
- เป็นภาวะต่อมทอนซิลอักเสบเรื้อรังที่รักษาด้วยยาไม่ได้ผล หรือเกิดการอักเสบปีละหลายครั้งหลายปีติดต่อกัน ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่แย่ลง เช่น ต้องขาดงาน หรือขาดเรียนบ่อย
- เมื่อต่อมทอนซิลโตมาก ๆ ทำให้เกิดอุดกั้นทางเดินหายใจ และมีอาการนอนกรน และ/หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea: OSA) ตามมา สำหรับผู้ป่วยเด็กทางเดินหายใจก็จะโล่งขึ้นด้วย
- ผู้ป่วยที่มีต่อมทอนซิลโต และแพทย์สงสัยว่าอาจเป็นมะเร็งของต่อมทอนซิลโดยตรง หรือมีมะเร็งที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ แล้วหาตำแหน่งมะเร็งต้นเหตุไม่เจอ แต่แพทย์สงสัยว่าอาจเป็นมะเร็งที่มาจากต่อมทอนซิล
ข้อเสียของการตัดต่อมทอนซิล
ในการตัดต่อมทอนซิลทิ้งไม่มีข้อเสีย เมื่อตัดทิ้งตามข้อบ่งชี้ที่ถูกต้องและเหมาะสม
ต่อมทอนซิลที่ตัดทิ้งมักจะเป็นต่อมที่ไม่ทำงานแล้ว จึงไม่ฆ่าเชื้อโรค แต่จะเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคแทน
เนื่องจากมีต่อมน้ำเหลืองในช่องคออีกมากมายที่ทำงานจับเชื้อโรคแทนต่อมทอนซิลได้ การผ่าตัดเอาต่อมทอนซิลออก จึงไม่ได้ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกาย หรือของช่องปากลดลงแต่อย่างใด
แพทย์ผู้ก่อตั้ง รัตตินันท์ เมดิคอล เซ็นเตอร์