ร้อนใน (Aphthous ulcer) แผลร้อนในเป็นอาการที่พบได้บ่อยมากๆ เรียกได้ว่าเกือบจะทุกคนที่เคยมีประสบการณ์ในการมีแผลร้อนใน ที่สร้างความเจ็บปวดและความรำคาญเป็นอย่างมาก แผลร้อนในที่พบได้บ่อยในช่องปาก มักเป็นแผลที่เป็นๆ หายๆ พบได้ในทุกช่วงอายุทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด
สาเหตุที่ทำให้เกิดแผล ร้อนใน
- บุคคลในครอบครัวมีประวัติเป็นแผลร้อนใน
- การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน โดยเฉพาะในผู้หญิงที่พบว่ามักจะเป็นแผลร้อนใน ในช่วงก่อนหรือระหว่างมีประจำเดือน
- ความกังวล ความเครียด นอนไม่หลับ หรือพักผ่อนไม่เพียงพอ
- การขาดสารอาหาร เช่น ขาดวิตามินบี 9 หรือกรดโฟลิก ขาดวิตามินบี 12 และภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก
- การแพ้อาหารบางชนิด
- การสูบบุหรี่ หรือการใช้ยาบางชนิดก็ทำให้เกิดโรคนี้ได้
- การได้รับบาดเจ็บภายในอวัยวะช่องปาก เช่น กัดโดนกระพุ้งแก้ม ลิ้น หรือการแปรงฟันแล้วโดนขนแปรง หรือขนแปรงสีฟันทิ่มภายในช่องปาก เป็นต้น
- การติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย
- ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน
- อาจมีความสัมพันธ์กับความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง มีแผลในทางเดินอาหาร
อ่านบทความน่าสนใจที่เกี่ยวข้อง
ลักษณะของแผลร้อนใน
ลักษณะของแผล ร้อนใน อาจจะมีลักษณะแตกต่างกันไปดังนี้
1. แผลร้อนในขนาดเล็ก (Minor aphthous ulcer)
จะเป็นรูปแบบที่พบได้บ่อย โดยประมาณ 80% ของผู้ป่วยทั้งหมด มีลักษณะเป็นแผลตื้นรูปกลมหรือรูปไข่ ขนาดไม่เกิน 1 เซนติเมตร ส่วนใหญ่แผลมักจะมีขนาดประมาณ 5 มิลลิเมตร ปกคลุมด้วยเนื้อเยื่อสีขาวเหลือง และมีวงสีแดงล้อมรอบแผล แผลอาจเกิดเป็นแผลเดี่ยว หรือหลายแผล มักเกิดที่เยื่อบุริมฝีปากด้านใน กระพุ้งแก้ม ขอบของลิ้น เพดานอ่อน และพื้นปาก แผลจะหายภายใน 10-14 วัน และไม่พบแผลเป็น
2. แผลร้อนในขนาดใหญ่ (Major aphthous ulcer)
เป็นรูปแบบที่รุนแรงและพบได้น้อย ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของแผลประมาณ 1-3 เซนติเมตร เป็นแผลลึก มีเนื้อตายที่ก้นแผล ขอบของแผลยกนูน และรอบๆ แผลจะมีการบวมและอักเสบแดง มักพบที่บริเวณริมฝีปาก เพดานอ่อน และบริเวณทางเชื่อมระหว่างปากและคอ โดยแผลร้อนในอาจจะเป็นอยู่นานถึง 6 สัปดาห์ และมักจะเกิดแผลเป็นภายหลังการหายของแผล
3. แผลร้อนในชนิดคล้ายแผลเฮอร์ปีส์ (Herpetiform ulcer)
เป็นรูปแบบที่พบได้น้อยที่สุด มีลักษณะเป็นกลุ่มแผลเล็กๆ รูปร่างกลมหรือรีขนาดเท่าหัวเข็มหมุดหลายแผล พบได้ตั้งแต่ 10-100 แผล ขนาดประมาณ 1-2 มิลลิเมตร แผลอาจจะรวมกันเป็นแผลขนาดใหญ่ขอบไม่เรียบ ลักษณะแผลจะคล้ายแผลที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเฮอร์ปีส์ แผลสามารถพบได้ทุกบริเวณในช่องปาก ผู้ป่วยมักมีอาการเจ็บปวด ทำให้การรับประทานอาหารลำบากและกลืนลำบาก
แผลร้อนใน รักษาอย่างไร ?
- การซักประวัติ ถามถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดแผล ตำแหน่งที่เป็น ระยะเวลาการเกิดแผล ความถี่ห่างของการเกิดแผล และความสัมพันธ์กับโรคทางระบบอื่นๆ ซึ่งถ้าผู้ป่วยมีโรคทางระบบอื่นๆ ร่วมด้วย ก็จะต้องส่งต่อไปให้แพทย์เฉพาะทางรักษา
- ตรวจแผลร้อนในอย่างละเอียดว่ามีลักษณะอย่างไร มีขอบฟันหรือขอบวัสดุที่คมที่อาจทำให้เกิดการระคายเคืองหรือไม่
- ถ้าเป็นบ่อยๆ อาจจะต้องตรวจเลือดดูว่าผู้ป่วยมีภาวะซีดหรือโลหิตจางหรือไม่
- การรักษาแผลร้อนในขนาดเล็ก ที่ได้ผลดีและนิยมใช้มากที่สุดคือ การให้สเตียรอยด์ชนิดทาเฉพาะที่ เช่น ไตรแอมซิโนโลนอะเซโตไนด์ (Triamcinolone acetonide; 0.1% in oral paste) วิธีการใช้คือ ป้ายบริเวณแผล วันละ 3 ครั้งหลังอาหาร และก่อนนอน ระยะเวลาในการใช้ยา 10-14 วัน
- แผลร้อนในขนาดใหญ่ จะใช้ยาชื่อฟลูโอซิโนโลนอะเซโตไนด์ (Fluocinolone acetonide; 0.1% in oral paste, oral gel หรือ 0.1% solution) วิธีการใช้
– วิธีที่ 1 ใช้ป้ายบริเวณแผล วันละ 3 ครั้งหลังอาหาร และก่อนนอน
– วิธีที่ 2 ใช้หยดบนรอยโรค วันละ 3 ครั้งหลังอาหาร และก่อนนอน
ระยะเวลาในการใช้ยา 10-14 วัน อาการข้างเคียงเมื่อใช้สเตียรอยด์เป็นเวลานาน อาจพบการติดเชื้อราแคนดิดา (candida) ได้ นอกจากนั้นอาจใช้ยาอมบ้วนปากร่วมด้วย เช่น คลอร์เฮกซิดีนกลูโคเนต (chlorhexidine gluconate) 0.2% อมบ้วนปากวันละ 3 ครั้งหลังอาหาร - ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจจะใช้สเตียรอยด์ชนิดรับประทานร่วมด้วย
- ในรายที่ตรวจพบว่ามีโรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก หรือขาดวิตามิน การให้สารอาหารที่ขาดทดแทน ก็จะช่วยลดความรุนแรงของอาการเจ็บ จำนวนแผล ลดระยะเวลาในการหาย รวมถึงความถี่ในการเกิดแผลใหม่ซ้ำ
- เมื่อเป็นแผลร้อนในควรงด หรือหลีกเลี่ยงอาหารรสเผ็ดจัด เค็มจัด หรือน้ำผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวเพราะจะทำให้เจ็บปวดมากขึ้น
- ใช้แปรงสีฟันที่มีขนแปรงนุ่ม หรือหากสงสัยว่าแผลร้อนในนั้นเกิดจากการเสียดสีของฟันปลอมสำหรับผู้มีฟันปลอมควรพบทันตแพทย์
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
- หากแผลในปากอาการไม่ดีขึ้นหรือมีอาการบวม แดงมากควรพบแพทย์
- ออกกำลังกายตามวัย และสภาวะของร่างกาย
Ref.
-
https://chulalongkornhospital.go.th
-
คู่มือการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ตามบัญชียาหลักแห่งชาติ ยาที่ใช้ทางทันตกรรม Thai National Formulary 2016 Drugs used in Dentistry
-
http://www.dentistry.kku.ac.th/media2018/booklife/18.pdf
แพทย์ผู้ก่อตั้ง รัตตินันท์ เมดิคอล เซ็นเตอร์