อาการปวดหัว นั้น เป็นอาการที่พบได้บ่อย ส่งผลทำให้รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน รบกวนการทำงาน และยังก่อให้เกิดความรำคาญ แต่คนส่วนมากก็อาจจะยังไม่ทราบว่าอาการปวดศีรษะที่กำลังเป็นนั้น เป็นอาการปวดศีรษะธรรมดาที่เกิดจากความเครียด อาการปวดศีรษะไมเกรน หรือมีสาเหตุอื่นๆ ที่รุนแรงกว่านั้นหรือไม่ ซึ่งอาการปวดศีรษะในแต่ละโรค ก็จะมีวิธีการรักษา และการบรรเทาอาการที่ต่างกันออกไปบ้าง และนี่คือข้อสังเกตเบื้องต้นที่จะช่วยให้เราแยกว่าอาการปวดศีรษะของเรานั้นเกิดจากอะไรกันแน่
อาการปวดหัว มีกี่ประเภท อะไรบ้าง ?
โดยทั่วไปเรามักจะแบ่งโรคปวดศีรษะออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
- อาการปวดศีรษะปฐมภูมิ (Primary Headache) เป็นกลุ่มที่ไม่มีรอยโรคในสมอง ศีรษะ หรือคอ กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ไม่ร้ายแรง โดยมักปวดเป็นๆ หายๆ ช่วงหายจะหายสนิท ได้แก่ ไมเกรน (Migraine), ปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อตึงตัว (Tension-type Headache), ปวดศีรษะคลัสเตอร์ (Cluster Headache) เป็นต้น
- อาการปวดศีรษะทุติยภูมิ (Secondary Headache) เป็นกลุ่มที่มีรอยโรคในสมอง ศีรษะ หรือคอ เช่น เนื้องอกในสมอง เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หลอดเลือดสมองโป่งพอง หลอดเลือดอักเสบ เลือดออกในสมอง กระดูกคอเสื่อม กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อพังผืดที่ศีรษะและคอ ต้อหิน โพรงไซนัสอักเสบ โรคบริเวณข้อต่อขากรรไกร การใช้ยา/ถอนยาหรือสารเสพติดบางอย่าง โรคทางจิตใจ เป็นต้น
- อาการปวดศีรษะจากเส้นประสาทสมองและอื่นๆ (Cranial neuralgias, central and primary facial pain and other headaches) เช่น อาการปวดศีรษะที่เกิดจากประสาทสมองเส้นที่ 5 (Trigeminal neuralgia ) เป็นต้น
ปวดศีรษะแบบตึงตัว (Tension-type headache)
เป็นโรคปวดศีรษะที่พบได้บ่อยที่สุด มักเกิดกับคนที่มีความเครียด ทำงานหนัก เหนื่อย ลักษณะการปวดมักเป็นแบบปวดแน่นแน่น หรือรัดรัดทั้งสองข้างของศีรษะและต้นคอ ความรุนแรงของอาการปวดอยู่ในระดับน้อยถึงปานกลาง ซึ่งอาจมีการปวดของกล้ามเนื้อบริเวณศีรษะ คอ ไหล่ ร่วมด้วยได้ อาการปวดชนิดนี้ไม่แย่ลงจากกิจวัตรประจำวัน และมักไม่มีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย
บทความน่าสนใจที่เกี่ยวข้อง
ปวดศีรษะไมเกรน (Migraine headache)
เป็นโรคปวดศีรษะที่พบได้บ่อย และมักได้รับการวินิจฉัยที่ผิดพลาด ซึ่งพบได้บ่อยในผู้หญิงวัยทำงาน โดยมีอาการปวดศีรษะข้างเดียว (อาจพบปวดทั้ง 2 ข้างได้บ้างแต่น้อยกว่า) โดยอาจปวดสลับไปมา ด้านซ้ายบ้างด้านขวาบ้าง ลักษณะปวดตุ๊บๆ ระยะเวลาในการปวดจะนานประมาณ 4 ชั่วโมงไป จนถึง 2-3 วัน
ลักษณะความรุนแรงของอาการปวดจะอยู่ในระดับรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมาก ซึ่งอาการปวดดังกล่าวจะแย่ลงได้จากสิ่งกระตุ้นภายนอก ไม่ว่าจะเป็นแสงจ้า เสียงดัง การมีประจำเดือน การพักผ่อนน้อย รวมถึงอาหารบางชนิด เช่น อาหารหมักดอง อาหารแปรรูปที่มีส่วนผสมของผงชูรส คาเฟอีน แอลกอฮอล์ เป็นต้น มักจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วยเกือบทุกครั้งที่ปวดศีรษะ
ปวดศีรษะแบบกลุ่ม (Cluster headache)
เป็นโรคปวดศีรษะที่พบได้ไม่บ่อยนัก แต่ทำให้เกิดความทุกข์ทรมานได้หากไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้อง โดยอาการปวดศีรษะชนิดนี้มักเกิดในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง
ระดับความรุนแรงของอาการปวดศีรษะมักมีอาการปวดที่รุนแรงจนทำให้ผู้ป่วยกระสับกระส่าย อาการมักเกิด ระยะเวลาที่ปวดประมาณ 15 นาทีถึง 3 ชั่วโมง ตำแหน่งที่ปวดมักปวดรอบดวงตาหรือบริเวณขมับโดยมักจะเป็นข้างเดียว ผู้ป่วยจะมีอาการของระบบประสาทอัตโนมัติพาราซิมพาเทติก (parasympathetic) ร่วมด้วย เช่น มีตาแดง มีน้ำตาไหล มีน้ำมูก มีเหงื่อออก บริเวณใบหน้าในด้านที่มีอาการปวดศีรษะ
อาการปวดหัว แบบไหนอันตราย ต้องรีบพบแพทย์!
- ปวดศีรษะครั้งแรกในชีวิต (ไม่เคยปวดแบบนี้มาก่อน)
- ปวดศีรษะรุนแรงมากที่สุดในชีวิต ปวดฉับพลัน
- ปวดศีรษะมากจนต้องตื่นขึ้นจากการนอนหลับ (Awakening headache)
- ปวดศีรษะข้างเดิมตลอด
- ปวดศีรษะมากขึ้นเมื่อไอ จาม เบ่ง ออกแรง เปลี่ยนท่าทาง หรือขณะมีเพศสัมพันธ์
- ผู้ป่วยอายุมากกว่า 50 ปีที่มีอาการปวดศีรษะครั้งแรกหรือเปลี่ยนไปจากเดิม
- ผู้ป่วยมีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น การติดเชื้อเรื้อรัง, SLE (โรคแพ้ภูมิตนเองหรือลูปัส)
- ปวดศีรษะจนต้องใช้ยาแก้ปวดปริมาณมากหรือบ่อย
- ปวดศีรษะมากอย่างเฉียบพลันร่วมกับคอแข็งและ/หรือมีไข้สูง เพราะอาจเป็นอาการของเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
- ในผู้ป่วยโรคมะเร็งและเกิดมีอาการปวดศีรษะมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะอาจเป็นอาการของมะเร็งแพร่กระจายสู่สมอง
- ปวดศีรษะภายหลังอุบัติเหตุต่อสมองหรือบริเวณศีรษะ เพราะเป็นอาการของการมีเลือดออกในสมอง
- ปวดศีรษะมากร่วมกับปวดตามาก ตาแดง และเห็นภาพไม่ชัด เพราะเป็นอาการของ โรคต้อหิน
- ปวดศีรษะมากร่วมกับคลื่นไส้อาเจียน และอาจจะมีแขนขาอ่อนแรง พูดไม่ชัด หน้าหรือปากเบี้ยว เพราะอาจเป็นอาการของโรคหลอดเลือดสมอง หรือเป็นอาการของความดันในสมองเพิ่ม อาจเกิดจากเนื้องอกหรือมะเร็งสมอง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรม อารมณ์หรืออาการชัก ซึ่งพบน้อยมากที่ผู้ป่วยเนื้องอกในสมองจะมีเพียงอาการปวดศีรษะอย่างเดียว
อาการปวดหัว ของโรคเนื้องอกในสมอง (Brain Tumor)
เนื้องอกในสมอง คือ เนื้อที่เกิดจากการเจริญเติบโตอย่างผิดปกติของเซลล์ในสมองหรือบริเวณเนื้อเยื่อและต่อมต่างๆ บริเวณใกล้เคียงกับสมอง ซึ่งอาจรบกวนระบบประสาทและการทำงานของสมอง จนทำให้มีอาการต่างๆ ตามมา
ตั้งแต่ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน มีปัญหาด้านพฤติกรรม บุคลิกภาพ การพูด การได้ยิน การมองเห็น ความจำ ไปจนถึงอาจเกิดอาการชัก เป็นอัมพาตครึ่งซีก หรือลุกลามเป็นมะเร็งในระยะอันตรายได้หากไม่ได้รับการรักษาให้ทันการณ์ ซึ่งเนื้องอกที่เกิดขึ้นในสมองอาจจะไม่ใช่เนื้อร้ายหรือมะเร็งเสมอไป
อาการโรคเนื้องอกในสมองที่มักจะสังเกตได้ เช่น มีอาการปวดศีรษะบ่อยๆ หรือปวดหัวเรื้อรัง และอาจปวดรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ มีอาการคลื่นไส้/อาเจียน ง่วงซึม มีปัญหาในการพูดการสื่อสาร เห็นภาพเบลอหรือภาพซ้อน มีปัญหาในการเคลื่อนไหว การทรงตัว อาจจะมีแขนขาอ่อนแรง หรือเป็นอัมพาตครึ่งซีกร่วมด้วย รวมถึงมีปัญหาด้านความจำ สับสบ มึนงง มีอาการชัก ทั้งๆ ที่ไม่เคยมีประวัติการชักมาก่อน
การวินิจฉัยอาการปวดศีรษะ / อาการปวดหัว
การวินิจฉัยว่าอาการปวดศีรษะเกิดจากสาเหตุหรือโรคใด สามารถทำได้โดย
- ซักถามประวัติอาการปวด เป็นมานานเท่าใด อาการรุนแรงขึ้นหรือไม่เปลี่ยนแปลง ลักษณะปวดเป็นอย่างไร ปวดตรงไหน ปวดบ่อยแค่ไหน ขณะปวดศีรษะยังทํางานได้ปกติดีหรือไม่ ทําอย่างไรจึงหายปวด มีอาการอื่นร่วมด้วยหรือไม่ เช่น มีไข้ ในระยะนี้กินยาอะไรอยู่ และมีประวัติได้รับอุบัติเหตุหรือไม่ เป็นต้น
- ตรวจร่างกายทั่วไป
- ตรวจร่างกายทางระบบประสาท
- การตรวจเพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือด, การเจาะน้ำไขสันหลัง (Lumbar puncture), เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT brain), การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง (MRI brain) หรือตรวจภาพหลอดเลือดสมอง (MRA)
โดยแพทย์จะเป็นผู้ตัดสินใจว่าผู้ป่วยแต่ละคนควรได้รับการตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีใดบ้าง ซึ่งขึ้นกับโรคที่สงสัย ส่วนการรักษาจะแตกต่างกันไปในแต่ละสาเหตุ มีทั้งการหลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นที่ทำให้ปวดศีรษะ การกินยาแก้ปวดตามอาการ การกินยาป้องกันการปวดศีรษะ การฉีดยา การใช้เลเซอร์ การใส่สายสวนทางหลอดเลือด การผ่าตัด กายภาพบำบัด และปรึกษาสหสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง
การดูแลตัวเองเบื้องต้น และการป้องกัน อาการปวดหัว
การดูแลตัวเองเบื้องต้น และการป้องกันอาการปวดศีรษะอาจทำได้หลายอย่าง ตัวอย่างเช่น
- การรับประทานยาแก้ปวด เช่น ยากลุ่มพาราเซตามอล (Acetaminophen) หรือยาแก้ปวดลดอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ซึ่งเป็นยาที่สามารถหาซื้อเองไว้ติดบ้านและมีใช้อย่างแพร่หลาย แต่ก็ควรใช้อย่างระมัดระวัง และควรอ่านฉลากและคำเตือนให้รอบคอบ
- การประคบเย็นในบริเวณที่ปวด หรือประคบอุ่นในกรณีเป็นไซนัสอักเสบ
- การนวดหรือกดคลึงบริเวณที่มีกล้ามเนื้อตึงตัวมากเกินไป
- การหยุดดื่มสุราและสูบบุหรี่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอและพักผ่อนให้เพียงพอ
- พยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยที่เป็นสาเหตุกระตุ้นอาการปวดศีรษะ ที่พบได้บ่อยๆ เช่น
- ความเครียด ซึ่งหมายรวมถึงทุกอย่างที่ทำให้ร่างกายอยู่ในภาวะเครียด เช่น อากาศร้อน แสงจ้า กลิ่นบางชนิด เช่น ควันบุหรี่ ควันรถยนต์ กลิ่นน้ำหอม
- ได้รับกาเฟอีนมากหรือน้อยเกินไป เช่น กาแฟวันละเกิน 3 แก้วขึ้นไป หรือน้อยเกินไป เช่น คนที่ทานกาแฟเป็นประจำทุกวันแล้วไม่ได้ทาน
- นอนไม่พอ หรือนอนมากเกินไป นอนไม่หลับ นอนกรน หรือหยุดหายใจขณะหลับ
- รับประทานอาหารบางชนิด เช่น ชา กาแฟ ชีส ช็อกโกแลต ผงชูรส แอลกอฮอร์
อย่างไรก็ตามหากไม่แน่ใจว่าจะเป็นโรคในกลุ่มที่ไม่มีรอยโรคก็ตาม ก็ควรพบแพทย์เพื่อปรึกษาการใช้ยาที่ถูกต้อง ลดความเสี่ยงจากผลข้างเคียงจากยา
แพทย์ผู้ก่อตั้ง รัตตินันท์ เมดิคอล เซ็นเตอร์