โรค น้ำในหูไม่เท่ากัน หรือ โรคมีเนีย (Meniere’s Disease) เป็นภาวะที่เกิดจากความผิดปกติในหูชั้นใน โดยมีการสะสมของน้ำในหูชั้นในเกินไป หูชั้นในของเราประกอบด้วยเซลล์ประสาทที่ควบคุมการทรงตัวและการได้ยิน ปกติแล้วจะมีน้ำในหูชั้นในอยู่ในปริมาณที่เหมาะสมกับการทำงานของเซลล์ประสาทนั้น ๆ และมีการไหลเวียนของน้ำในหูเป็นปกติ เมื่อมีการเคลื่อนไหวของศีรษะ เซลล์ประสาทจะถูกกระตุ้นให้ส่งสัญญาณไปยังสมองเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของร่างกาย อย่างไรก็ตาม
หากมีความผิดปกติในการไหลเวียนของน้ำในหู เช่น การดูดซึมของน้ำไม่ดี จะทำให้น้ำในหูชั้นในสะสมเพิ่มขึ้น (endolymphatic hydrops) ซึ่งส่งผลต่อการทำงานของเซลล์ประสาทที่ควบคุมการทรงตัวและการได้ยิน ทำให้เกิดความผิดปกติในการทำงานของเซลล์เหล่านั้น
โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เป็นอย่างไร?
โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน หรือ โรคมีเนีย (Meniere’s disease) เป็นสาเหตุของโรคที่พบอันดับสองของสาเหตุอาการเวียนศีรษะ ส่วนใหญ่มักเป็นกับหูเพียงข้างเดียว มีเพียง 15-20% ที่เป็นหูทั้งสองข้าง เกิดจากความผิดปกติของน้ำในหูชั้นใน ซึ่งปกติหูชั้นในจะมีน้ำในปริมาณที่พอดีกับการทำงานของเซลล์ประสาทที่ทำหน้าที่ควบคุมการทรงตัวและการได้ยิน และมีการไหลเวียนถ่ายเทเป็นปกติ แต่เมื่อเกิดความผิดปกติขึ้น เช่น การดูดซึมของน้ำในหูไม่ดี ทำให้น้ำในหูชั้นในมีปริมาณมากกว่าปกติ ก็จะส่งผลต่อการทำงานของเซลล์ประสาทที่ควบคุมการทรงตัวและการได้ยิน ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการวิงเวียนศีรษะ หูอื้อ สูญเสียการได้ยิน รู้สึกถึงแรงดันภายในหู เป็นต้น
สาเหตุโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน
โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งเพศทุกเพศและทุกช่วงวัย เนื่องจากเป็นโรคที่ไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน พบมากในกลุ่มวัยทำงานที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยหลายประการที่อาจมีผลต่อการเป็นโรคนี้ เช่น พันธุกรรมที่มีโครงสร้างหูชั้นในผิดปกติตั้งแต่เกิด โรคภูมิแพ้ การติดเชื้อไวรัส การอักเสบในหูชั้นกลาง โรคหูน้ำหนวก การเป็นโรคซิฟิลิส ประวัติการเคยประสบอุบัติเหตุที่เกี่ยวกับศีรษะ และโรคร่วมเกี่ยวกับเบาหวาน ไทรอยด์ และระดับไขมันในเลือดสูง ซึ่งเป็นเพียงตัวอย่างเล็กน้อยของปัจจัยที่อาจมีผลต่อโรคนี้
อาการแบบไหนบ่งบอกน้ำในหูไม่เท่ากัน
อาการของน้ำในหูไม่เท่ากัน มักเกิดขึ้นที่หูข้างใดข้างหนึ่งอย่างกะทันหันและเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในช่วงแรก ๆ บางรายอาจมีอาการนานเป็นชั่วโมง หลังจากนั้นอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น ผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีอาการที่แตกต่างกันออกไป มักจะมีอาการหรือสัญญาณเตือนเกิดขึ้นก่อน เช่น วิงเวียนศีรษะ บ้านหมุน เซ ปวดศีรษะ รู้สึกถึงแรงดันภายในหู หูอื้อ รู้สึกไม่สบายใจ เป็นต้น ควรหาที่นั่งพักหากมีอาการข้างต้น
อาการน้ำในหูไม่เท่ากัน มักแบ่งได้ 3 ระยะ
อาการน้ำในหูไม่เท่ากัน มักแบ่งออกเป็น 3 ระยะดังนี้
- ระยะแรกเริ่ม : ผู้ป่วยมักมีอาการวิงเวียนศีรษะแบบไม่ทันตั้งตัว โดยปกติมักเกิดขึ้นเป็นเวลา 2-3 ชั่วโมง แต่อาจเกิดขึ้นได้นานถึง 24 ชั่วโมง มักมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน หรือมึนหัว อาจมีปัญหาเกี่ยวกับการได้ยินหรือหูอื้อร่วมด้วยในเวลาเดียวกัน
- ระยะกลาง : ยังคงมีอาการวิงเวียนศีรษะอย่างต่อเนื่อง อาจมีการดีขึ้นบ้าง แต่หูอื้อและปัญหาเกี่ยวกับการได้ยินมักจะแย่ลง บางรายอาจไม่พบอาการนานหลายเดือน หรืออาจจะยังรู้สึกวิงเวียนศีรษะ ไวต่อเสียง สูญเสียการทรงตัวหรือเซร่วมด้วย
- ระยะหลัง : อาการวิงเวียนศีรษะจะลดลงน้อยลง อาจพบอาการได้บ้างในช่วงหลายเดือนหรืออาจนานหลายปี ผู้ป่วยอาจมีปัญหาเกี่ยวกับการทรงตัว รู้สึกไม่มั่นคงที่เท้าเวลายืนหรือเดิน โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในที่มืด แต่อาการหูอื้อและปัญหาเกี่ยวกับการได้ยินมีแนวโน้มที่จะแย่ลง อาการของโรคน้ำในหูไม่เท่ากันที่เกิดขึ้นอาจเป็นผลมาจากโรคอื่น ๆ ดังนั้นควรไปพบแพทย์หากพบว่ามีอาการดังกล่าวเพื่อทำการวินิจฉัยโรคต่อไป
การตรวจและวินิจฉัยโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน
การตรวจและวินิจฉัย โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน มักเริ่มด้วยการซักประวัติอาการ โดยแพทย์จะสอบถามลักษณะของอาการเวียนศีรษะ ความรุนแรงของอาการ ระยะเวลาและความถี่ของอาการ และอาการทางหูที่เกิดขึ้นร่วมด้วย ในกรณีที่อาการไม่ชัดเจนอาจต้องใช้การตรวจพิเศษเพิ่มเติมเพื่อช่วยในการวินิจฉัย ได้แก่
- การตรวจทางร่างกาย เช่น การตรวจหู คอ จมูก และระบบประสาท การตรวจระบบสมดุลของร่างกาย การตรวจการทำงานของอวัยวะการทรงตัวในหูชั้นใน และการตรวจการเคลื่อนไหวของลูกตาในท่าทางต่าง ๆ
- การตรวจอื่น ๆ เช่น การตรวจการได้ยิน การตรวจการทำงานของอวัยวะทรงตัวของหูชั้นใน และการตรวจการทำงานของเส้นประสาทการได้ยิน
- การตรวจพิเศษทางรังสี เช่น การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือ การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT scan) ในกรณีที่มีความเสี่ยงที่จะมีเนื้องอกของเส้นประสาทการทรงตัวหรือความผิดปกติสมอง
น้ำในหูไม่เท่ากันวิธีรักษาอย่างไร?
การ รักษาโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน มีวิธีหลายรูปแบบที่สามารถช่วยบรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะได้ รวมถึง
- การรับประทานยา : แพทย์อาจสั่งยาเพื่อบรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะ, บ้านหมุน, และป้องกันคลื่นไส้ อาเจียน เช่น มีไคลซีน, โปรเมทาซีน, หรือยาขับปัสสาวะ
- ยาสเตียรอยด์ : ใช้ในกรณีที่มีความเสี่ยงที่จะมีสาเหตุมาจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
- การบำบัดแบบ Noninvasive Therapies : เช่น การฟื้นฟูระบบการทรงตัว (Vestibular Rehabilitation Therapy) เพื่อผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการทรงตัว
- การใส่เครื่องช่วยฟัง : เพื่อช่วยพัฒนาการได้ยิน
- การใช้ Meniett Device : เครื่องช่วยปรับความดันในหูชั้นกลางเพื่อช่วยปรับความดันในหูและทำให้ของเหลวในหูไหลเวียนได้ดีขึ้น
การรักษาน้ำในหูไม่เท่ากันควรปรับให้เหมาะสมกับสภาพและอาการของผู้ป่วยแต่ละราย โดยควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำและการรักษาที่เหมาะสมที่สุด
หากการรักษาแบบประคับประคองด้วยวิธีข้างต้นแล้วไม่พบอาการที่ดีขึ้น
หากการรักษาแบบประคับประคองด้วยวิธีทั่วไปไม่สำเร็จ แพทย์อาจแนะนำให้ใช้วิธีการรักษาแบบเชิงรุกดังต่อไปนี้
- การฉีดยา : แพทย์อาจฉีดยาเจนตามัยซิน (Gentamicin) หรือสเตียรอยด์ เช่น เดกซาเมทาโซน เข้าที่หูชั้นกลางเพื่อช่วยบรรเทาอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน
- การผ่าตัด : สามารถใช้ในกรณีที่การรักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล โดยมีวิธีต่าง ๆ เช่น
- Endolymphatic Sac Procedure: ผ่าตัดกระดูกบางส่วนออกหรือใส่ท่อเพื่อช่วยระบายน้ำส่วนเกินออกจากหูชั้นใน
- Vestibular Nerve Section: ตัดเส้นประสาทที่เชื่อมต่อระหว่างหูชั้นในและสมอง
- Cochleosacculotomy: ผ่าตัดเพื่อระบายน้ำในหูชั้นใน
- Labyrinthectomy: ผ่าตัดอวัยวะที่เกี่ยวกับการได้ยินและทรงตัวที่อยู่ในหูชั้นใน
การเลือกใช้วิธีการรักษาแบบเชิงรุกจะขึ้นอยู่กับสภาพและอาการของผู้ป่วย และควรปรึกษาแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสมที่สุด
ผู้ป่วยโรคน้ำในหูไม่เท่ากันสามารถดูแลรักษาตัวเองโดยการปฏิบัติตามแนวทางดังต่อไปนี้
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของเกลือ ผงชูรส ช็อกโกแลต คาเฟอีน และแอลกอฮอล์
- ดื่มน้ำประมาณ 6-8 แก้ว ให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
- นั่งพักหากพบว่ามีอาการวิงเวียนศีรษะ
- จัดการกับความเครียด
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
Rattinan Team เป็นทีมเขียนบทความสุขภาพที่มีความเชี่ยวชาญในการสร้างเนื้อหาที่มีคุณภาพสูงและเป็นมิตรกับ SEO เพื่อเพิ่มการมองเห็นและการเข้าถึงของเว็บไซต์สุขภาพในผลการค้นหาของ Google ทีมงานของเราประกอบด้วยด้านสุขภาพที่มีการรักษาในหลากหลายสาขา เช่น การแพทย์ การพยาบาล โภชนาการ และการออกกำลังกาย