ไขข้อข้องใจ ไซนัสอักเสบ เกิดขึ้นได้อย่างไร มีกี่ชนิด และมีการรักษาแบบไหนบ้าง

ไซนัสอักเสบ

ไซนัสอักเสบ (Sinusitis) เป็นโรคที่พบบ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคนี้อยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างสูง และทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยแย่ลง ซึ่งมักไม่ได้รับการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง เนื่องจากอาการของโรคไซนัสอักเสบมักจะไม่เฉพาะเจาะจง  ทำให้แยกได้ยากจากการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนบน เช่น จมูกอักเสบหรือหวัด

โรคไซนัสอักเสบ เป็นภาวะที่มีการอักเสบ (inflammation) ของเยื่อบุโพรงอากาศข้างจมูก หรือที่เราเรียกว่า ไซนัส  ซึ่งอาจเป็นเพียงไซนัสเดียว หรือหลายไซนัสก็ได้ อาจจะเป็นการอักเสบติดเชื้อหรือการอักเสบชนิดไม่ติดเชื้อก็ได้

ซึ่งเมื่อเกิดการอักเสบหรือติดเชื้อ เนื้อเยื่อในโพรงไซนัสจะมีอาการบวม และร่างกายจะผลิตสารคัดหลั่งเมือกเหลวขึ้นมามาก จนเกิดการอุดตันจนกลายเป็นหนองอักเสบหรือน้ำมูกเขียวข้น คนไข้โรคไซนัสอักเสบมักจะมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล และปวดบริเวณไซนัสที่อักเสบ เช่น บริเวณจมูก ตา โหนกแก้ม หน้าผาก ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น รวมถึงมีอาการป่วยอื่นๆ ร่วมด้วย

ไซนัสคืออะไร

ไซนัส คือโพรงอากาศที่อยู่ภายในกระดูกบริเวณรอบๆ ใกล้เคียงกับจมูก ซึ่งมีอยู่ 4 กลุ่มใหญ่ๆ ในแต่ละข้าง  ได้แก่

  • Maxillary sinus เป็นไซนัสที่ใหญ่ที่สุดอยู่ภายในกระดูกโหนกแก้ม
  • Ethmoid sinus เป็นไซนัสที่มีอยู่หลายโพรง มีขนาดเล็ก และอยู่ระหว่างบริเวณโคนจมูก และหัวตาแต่ละข้าง
  • Frontal sinus เป็นไซนัสที่อยู่ในกระดูกหน้าผาก บริเวณหัวคิ้ว
  • Sphenoid sinus เป็นไซนัสที่อยู่ใต้ฐานกะโหลกศีรษะ
ไซนัสคืออะไร

ติดต่อสอบถามได้ที่

กลับสู่สารบัญ

ไซนัส มีหน้าที่อะไร

หน้าที่ของไซนัสนั้นไม่ทราบแน่ชัด  แต่เชื่อว่าอาจช่วยทำให้เสียงที่เราเปล่งออกมา กังวานขึ้น ช่วยทำให้กะโหลกศีรษะเบาขึ้น และช่วยรักษาสมดุลของศีรษะ ช่วยในการปรับความดันของอากาศภายในโพรงจมูก  ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงของความดัน และสร้างสารคัดหลั่งที่ป้องกันการติดเชื้อของโพรงจมูกและไซนัส

การอักเสบของไซนัสนั้น ถ้าเกิดขึ้นในไซนัสหลายๆ ไซนัสพร้อมกันเรียกว่า pansinusitis ไซนัสอักเสบมักเกิดร่วมกับจมูกอักเสบ (rhinitis) เสมอๆ ดังนั้น ปัจจุบันจึงใช้คำว่า rhinosinusitis แทนคำว่า sinusitis เฉยๆ เชื้อที่ทำให้เกิดไซนัสอักเสบ อาจเกิดจากไวรัส แบคทีเรีย หรือเชื้อรา ก็ได้

ไซนัสอักเสบ มีกี่ชนิด

ไซนัสอักเสบสามารถแบ่งตามตามระยะเวลาได้ 2 ชนิด โดยตัดที่ระยะเวลา 12 สัปดาห์

  1. ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน (acute rhinosinusitis) คือไซนัสอักเสบที่มีอาการน้อยกว่า 12 สัปดาห์ และอาการต่าง ๆ หายสนิท (complete resolution)
  2. ไซนัสอักเสบเรื้อรัง (chronic rhinosinusitis) คือไซนัสอักเสบที่เป็นมานาน มากกว่าหรือเท่ากับ 12 สัปดาห์  และในช่วงที่เป็นนั้น อาการต่างๆ ไม่มีช่วงที่หายเลย (without resolution of symptoms)

โรคไซนัสอักเสบนั้นสามารถหายได้เองได้โดยไม่ต้องรักษา ถ้าเกิดจากการอักเสบตามหลังหวัดที่เกิดจากเชื้อไวรัสและเป็นไม่มาก  แต่ถ้าไซนัสอักเสบแบบที่มีภาวะแทรกซ้อนไปที่ตา และสมองนั้นก็จะเป็นชนิดที่ต้องรับการรักษาอย่างเร่งด่วน อย่างไรก็ตาม โรคไซนัสอักเสบเฉียบพลัน (acute rhinosinusitis) ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก  อาจเกิดไซนัสอักเสบเฉียบพลันเป็นๆ หายๆ  จนกลายไปเป็นโรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง (chronic rhinosinusitis) หรือมีภาวะแทรกซ้อนตามมาได้

ดังนั้นถ้าผู้ป่วยไซนัสอักเสบ ได้รับการวินิจฉัย และได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมในระยะเริ่มแรก จะช่วยลดการกลับเป็นซ้ำหรือการเป็นเรื้อรัง และลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนและการดื้อยาของเชื้อแบคทีเรีย รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการรักษาได้

การวินิจฉัยโรคไซนัสอักเสบ (rhinosinusitis)

การวินิจฉัยโรคไซนัสอักเสบ อาศัยประวัติ, การตรวจร่างกาย (ตรวจโพรงจมูก) และ การสืบค้นเพิ่มเติม  โดยผู้ป่วยต้องมีอาการ

  • คัดจมูก (nasal blockage/obstruction/congestion)
  • น้ำมูกไหล ซึ่งอาจไหลออกมาทางรูจมูก หรือไหลลงคอ (anterior/posterior nasal drip)

ซึ่งประวัติที่จะช่วยในการวินิจฉัยโรคไซนัสอักเสบเฉียบพลัน ได้แก่

  • เป็นหวัดมานานมากกว่า 7-10 วัน
  • เป็นหวัดที่มีอาการรุนแรงมาก มีไข้สูง คัดจมูก มีน้ำมูกเหลืองข้น ได้กลิ่นลดลง เจ็บคอ เสมหะไหลลงคอ ไอ ปวดศีรษะ
  • ปวดหรือตื้อทึบบริเวณโหนกแก้มคล้ายปวดฟันบน หรือปวดรอบๆ จมูก หัวคิ้ว หรือหน้าผาก ซึ่งเป็นบริเวณของไซนัส

ส่วนผู้ป่วยโรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง มักมีอาการไม่เฉพาะเจาะจง เช่น คัดจมูก การรับกลิ่นลดลงหรือไม่ได้กลิ่น มีน้ำมูกสีเขียวเหลืองในจมูกหรือไหลลงคอ ปวดศีรษะ ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น มีกลิ่นปาก ลิ้นเป็นฝ้า คอแห้ง มีเสมหะในคอ ระคายคอเรื้อรัง ไอ ปวดหู หรือหูอื้อ

กลับสู่สารบัญ

ไซนัสอักเสบและโรคกรดไหลย้อน

โรคกรดไหลย้อน ขึ้นมาที่คอและกล่องเสียง (laryngopharyngeal reflux : LPR) เป็นโรคซึ่งเกิดจากการไหลย้อนกลับของกรดในกระเพาะอาหาร ไหลย้อนขึ้นมาผ่านกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหาร ทำให้เกิดอาการระคายเคืองจากกรด โรคกรดไหลย้อนชนิดนี้ อาจทำให้อาการของไซนัสอักเสบแย่ลง หรือมีอาการมากขึ้นได้ โดยเฉพาะถ้ากรดไหลย้อนขึ้นมาด้านหลังของโพรงจมูก รวมทั้งอาจทำให้ไซนัสอักเสบเรื้อรังเป็นๆ หายๆ โรค LPR มักเกิดในขณะเดิน นั่ง หรือยืน ในเวลากลางวัน ซึ่งต่างจากโรคกรดไหลย้อนธรรมดา ซึ่งมักเกิดขณะนอนและเกิดในเวลากลางคืน

ปัจจัยอะไรบ้าง ที่กระตุ้นให้เกิด ไซนัสอักเสบ

  1. มีอาการไข้หวัด เกิดจากการติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนบนมาก่อน เนื่องจากเชื้อไวรัสโรคหวัดมักส่งผลให้เกิดเยื่อบุจมูกอักเสบ และอาจส่งผลต่อไปยังไซนัส เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของไซนัสอักเสบชนิด
  2. มีประวัติโรคภูมิแพ้ เพราะโรคนี้มีผลให้เกิดการบวมของเยื่อบุจมูกและเยื่อบุไซนัส อาจทำให้เกิดสารคัดหลั่งคั่งในไซนัส และก่อให้เกิดการติดเชื้อได้
  3. การติดเชื้อของฟัน พบว่าประมาณ 10% จากการอักเสบของไซนัสแมกซิลลา หรือโพรงอากาศในกระดูกโหนกแก้ม มีสาเหตุมาจากฟันผุ และมักทำให้เป็นไซนัสอักเสบข้างเดียว
  4. มีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในรูจมูก เช่น เม็ดถั่วเขียว เมล็ดผลไม้ เกิดการอุดตันโพรงจมูก และทำให้เกิดการติดเชื้อ มักทำให้เป็นไซนัสอักเสบข้างเดียว โดยมากมักพบในเด็ก
  5. จากการว่ายน้ำ-ดำน้ำ แล้วเกิดการสำลักน้ำเข้าไปในจมูกและในไซนัส ซึ่งอาจมีเชื้อโรคเข้าไปด้วย โดยเฉพาะขณะมีการติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนบน รวมทั้งสารคลอรีนในสระน้ำ ยังเป็นสารเคมีที่มีผลกระตุ้นให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุโพรงไซนัสได้อีกด้วย
  6. อุบัติเหตุของกระดูกบริเวณใบหน้า
  7. อาศัยอยู่ที่บริเวณที่ ฝุ่น ควัน หรือสิ่งระคายเคืองมาก
  8. มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือมีภูมิต้านทานต่ำ
  9. มีโรคหรือภาวะใดก็ตาม ที่ทำให้มีการอุดตันหรือรบกวนการทำงานของรูเปิดของไซนัส เช่น  มีการบวมของเยื่อบุจมูกบ่อยๆ หรือเป็นเรื้อรังเนื่องจากโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้และชนิดไม่แพ้, การสูบบุหรี่ หรือสูดควันบุหรี่, การสัมผัสกับมลพิษเป็นประจำ
กลับสู่สารบัญ

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้จากโรค

ไซนัสอักเสบ มีอะไรบ้าง

  • เยื่อบุหูชั้นกลางอักเสบ
  • ริดสีดวงจมูก
  • ท่อยูสเตเชียนทำงานผิดปกติ (ท่อที่เชื่อมระหว่างหูชั้นกลางและโพรงหลังจมูก)
  • ภาวะแทรกซ้อนทางตา ทำให้เนื้อเยื่อรอบๆ ตาเกิดอักเสบ มักมีอาการตาบวมข้างเดียว แดงรอบๆ และในลูกตา ซึ่งการติดเชื้อนี้สามารถรุนแรงถึงขั้นตาบอดได้
  • ภาวะแทรกซ้อนในสมอง เช่น ฝีในสมอง, เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งภาวะติดเชื้อนี้อาจส่งผลรุนแรงถึงชีวิตได้
อาการไซนัส

ติดต่อสอบถามได้ที่

กลับสู่สารบัญ

การรักษาโรคไซนัสอักเสบ

เป้าหมายของการรักษาโรคไซนัสอักเสบ คือ บรรเทาอาการ เพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย และป้องกันภาวะแทรกซ้อน และป้องกันการกลับเป็นซ้ำของโรค

1. ในผู้ป่วย ไซนัสอักเสบ ที่เกิดจากเชื้อไวรัส ส่วนใหญ่ให้การรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาแก้ปวด, ให้ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือและให้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก

2. ในผู้ป่วยไซนัสอักเสบที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ควรกำจัดเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุ โดยการให้ยาฆ่าเชื้อ ซึ่งระยะเวลาของการให้ยาฆ่าเชื้อในคนที่เป็นไซนัสอักเสบเฉียบพลัน จะให้ยาอย่างน้อย 10-14 วัน ส่วนในคนที่เป็นไซนัสอักเสบเรื้อรังจะให้ยาฆ่าเชื้อเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3-6 สัปดาห์

3. ทำให้การไหลเวียนของสารคัดหลั่งและอากาศภายในไซนัสดีขึ้น โดยการ

  • ให้ยาหดหลอดเลือด ทำให้การบวมของเยื่อบุจมูกลดลง บรรเทาอาการคัดจมูก ทำให้รูเปิดของไซนัสโล่งขึ้น  แต่ไม่ควรใช้นานกว่า 7 วัน เพราะจะทำให้เยื่อบุจมูกเสียได้
  • ยาสตีรอยด์พ่นจมูก ช่วยลดการอักเสบในจมูก  ทำให้รูเปิดของไซนัส ที่มาเปิดในโพรงจมูกโล่งขึ้น  ช่วยให้การไหลเวียนของอากาศ  การระบายของสารคัดหลั่งหรือ หนองที่อยู่ภายในไซนัสดีขึ้น
  • ยาต้านฮิสตะมีน รุ่นใหม่
  • การล้างจมูกด้วยน้ำเกลืออุ่นๆ  เป็นการชะล้างเอาน้ำมูก หนอง  สิ่งสกปรกในจมูก ซึ่งเกิดจากกาอักเสบในโพรงจมูกและไซนัสออก

4. การผ่าตัด ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยที่เป็นโรค ไซนัสอักเสบ มักจะหายได้โดยการใช้ยาอย่างเต็มที่  ส่วนน้อยที่ต้องรับการผ่าตัด  ดังนั้นในการรักษาจึงพยายามใช้ยาอย่างเต็มที่ก่อน   การผ่าตัดเป็นการแก้ไขความผิดปกติที่ทำให้รูเปิดระหว่างโพรงจมูกและไซนัสอุดตัน

เมื่อไหร่ที่ควรจะทำการรักษา ไซนัสอักเสบ ด้วยการผ่าตัด

  • ผู้ป่วย ไซนัสอักเสบ เฉียบพลันที่รักษาด้วยยาเต็มที่แล้ว แต่ไม่ดีขึ้น ภายใน 3 – 4 สัปดาห์ หรือ ผู้ป่วยไซนัสอักเสบเรื้อรังที่รักษาด้วยยาเต็มที่แล้ว แต่ไม่ได้ผล ภายใน 4 – 6 สัปดาห์ หรือมีการอักเสบเป็นซ้ำหลายๆ ครั้ง
  • ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมาก มีไข้ขึ้นสูง หรือมีภาวะแทรกซ้อนของไซนัสอักเสบ
  • ผู้ป่วยไซนัสอักเสบ ที่มีความผิดปกติของโครงสร้างในโพรงจมูก ซึ่งทำให้เกิดการอุดตันของรูเปิดไซนัส
  • ผู้ป่วยไซนัสอักเสบที่มีริดสีดวงจมูกร่วมด้วย
  • ผู้ป่วยไซนัสอักเสบที่เกิดจากเชื้อรา
การรักษาไซนัส

การรักษาด้วยการผ่าตัดจะใช้วิธีส่องกล้องเข้าไปในโพรงจมูกและไซนัส และสอดบอลลูนเพื่อขยายโพรงอากาศของไซนัส หรือที่เรียกว่า balloon sinuplasty  ซึ่งเป็นวิธีที่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) การรักษา ไซนัสอักเสบ ด้วยการสอดบอลลูนเพื่อขยายโพรงอากาศของไซนัส (Balloon Sinuplasty) เป็นการรักษาวิธีใหม่ที่ช่วยลดอาการปวดและลดความดันในโพรงจมูก ที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยในการรักษาโรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง สำหรับผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อ

รักษาไซนัสอย่างไร

ในการผ่าตัดนี้จะใช้ยาชาเฉพาะจุดเท่านั้น แพทย์จะทำการใส่สายขดลวดซึ่งเป็นสายนำเข้าไปในโพรงอากาศไซนัส โดยมีหลอดไฟขนาดเล็กติดอยู่ ช่วยระบุตำเเหน่ง เพื่อทำการขยายรูเปิดไซนัสได้อย่างถูกต้องแม่นยำ หลังจากนั้นจะสอดบอลลูนไปตามสายขดลวด เมื่อไปอยู่ในจุดรูเปิดของไซนัส ก็จะขยายบอลลูนเพื่อช่วยขยายรูเปิดให้กว้างขึ้น หลังการผ่าตัด อาจจะยังมีอาการคัดจมูก แต่ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ปกติ ภายใน 24-48 ชั่วโมง

วิธีตรวจเช็คไซนัส
กลับสู่สารบัญ

ฝากทิ้งท้ายเกี่ยวกับ ไซนัสอักเสบ

เมื่อผู้ป่วยที่มีอาการน้อยได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง มักจะหายได้ภายใน 2-3 สัปดาห์ แต่หากมีอาการเรื้อรัง รวมถึงมีปัจจัยอื่นร่วม จะต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง และปฎิบัติตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจเกิดโรคแทรกซ้อนได้ แม้ผู้ป่วยบางส่วนจะมีอาการเรื้อรังจากภูมิแพ้ แต่ก็สามารถดำรงชีวิตอย่างปกติได้ โดยพยายามหลีกเลี่ยงจากมลภาวะ ฝุ่น ควัน และพักผ่อน รวมถึงออกกำลังายอย่างสม่ำเสมอ

ติดต่อสอบถามได้ที่

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ที่ดีที่สุดสำหรับคุณ การใช้งานเว็บไซต์นี้แสดงว่าคุณยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว ของเรา

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า