ใครที่เคยตื่นกลางดึกด้วยอาการเหงื่อโทรมอย่างไม่อาจอธิบายได้ แม้จะอยู่ในห้องเย็นฉ่ำ ขณะที่คนข้าง ๆ นอนหลับสบาย ไม่มีอาการเช่นนั้นเลย นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนจากร่างกายว่ามีความผิดปกติบางอย่าง ที่เรียกว่า เหงื่อออกตอนกลางคืน หรือ เหงื่อออกขณะหลับ
การที่คนเรามีเหงื่อออกตอนกลางคืนเป็นอาการที่พบได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง อาจไม่เป็นอาการรุนแรงหรือเสี่ยงต่อสุขภาพ แต่หากคุณรู้สึกว่ามีอาการเหงื่อออกมากเกินไป หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ เกิดขึ้นพร้อมกันนี้ ซึ่งไม่ควรมองข้าม แต่ควรตรวจสอบสาเหตุและรักษาโดยเร็ว
เหงื่อเกิดจากอะไร
ร่างกายของเราประกอบด้วยอวัยวะต่าง ๆ ที่ทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ กระบวนการเมตาบอลิซึม (Metabolism) เป็นกระบวนการหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงอาหารให้เป็นพลังงาน ทำให้เกิดความร้อนในร่างกาย เมื่อเกิดความร้อน ร่างกายจะมีกลไกควบคุมโดยการระบายความร้อนออกมาในรูปของเหงื่อ เพื่อให้อุณหภูมิของร่างกายอยู่ในระดับที่เหมาะสม นั่นคือการหลั่งเหงื่อ เป็นการถ่ายเทความร้อนส่วนเกินที่เกิดขึ้นในร่างกายออกสู่ภายนอก
สาเหตุของเหงื่อออกขณะหลับในยามค่ำคืน
ปกติแล้วร่างกายของคนเราจะมีเหงื่อออกซึ่งเป็นกลไกที่ระบบภายในของร่างกาย ช่วยระบายความร้อนในร่างกาย ในบางคนที่มีเหงื่อออกตอนกลางคืนอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิห้องที่สูงกว่าปกติ หรือใส่ชุดนอนที่หนาเกินไป หรือในบางกรณีที่มีเหงื่อออกในยามค่ำคืนนั้น อาจไม่ใช่กลไกที่ร่างกายระบายความร้อนตามปกติของร่างกาย อาจมีปัจจัยที่ทำให้เกิดเหงื่อหลายประการ ดังนี้
- การเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนหรือวัยทอง ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงร่างกายและส่งผลให้เหงื่อออกตอนกลางคืน
- การติดเชื้อ เช่น วัณโรค ฝี หรือเอชไอวี ที่อาจส่งผลให้เหงื่อออกมามากขึ้น
- มะเร็ง ซึ่งอาจเป็นสัญญาณแรกของมะเร็ง ถ้ามีอาการเพิ่มเติม เช่น ไข้หรือน้ำหนักลด
- ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เป็นไปได้ในผู้ที่ต้องรักษาโรคเบาหวานด้วยอินซูลินหรือยาอื่น ๆ
- ความผิดปกติของฮอร์โมน เช่น การเปลี่ยนแปลงในระดับฮอร์โมนเนื่องจากสิ่งต่าง ๆ
- ภาวะความผิดปกติทางระบบประสาท เช่น หลอดเลือดในสมองแตก
- ความเครียด
- ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาต้านเศร้า สเตียรอยด์ ยาต้านฮอร์โมน หรือยาแก้ปวด
- การบริโภคสารเสพติด เช่น แอลกอฮอล์ คาเฟอีน ยาสูบ หรือกัญชา
- สาเหตุอื่น ๆ เช่น ภาวะเหงื่อออกมาก (Hyperhidrosis) กรดไหลย้อน หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เป็นต้น
อาการที่พบเมื่อเหงื่อออกขณะหลับ
โดยปกติแล้วคนที่มีเหงื่อออกตอนกลางคืนเป็นอาการที่พบบ่อย เมื่อนอนในสถานที่ที่มีอุณหภูมิสูงเกินไป หรือใส่ชุดนอนหนาหรือห่มผ้าหลายชั้นมากเกินไป อย่างไรก็ตามในบางกรณีอาการเหงื่อออกตอนกลางคืนอาจเป็นสัญญาณของโรคต่าง ๆ ซึ่งอาจมีอาการร่วมด้วย เช่น
- มีไข้และรู้สึกหนาวสั่น
- มีอาการไอ
- มีปัญหาท้องเสีย
- มีอาการปวดตามร่างกายโดยสามารถระบุบริเวณที่ปวดได้ชัดเจน
- น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
- มีเหงื่อออกมากเกินปกติในตอนกลางวัน
- ผู้หญิงอาจพบอาการช่องคลอดแห้ง ร้อนวูบวาบในตอนกลางวัน หรืออารมณ์แปรปรวน
แม้ว่าอาการเหงื่อออกในขณะหลับจะไม่รุนแรงหรือไม่ส่งผลอันตรายต่อร่างกายโดยตรง แต่ควรพบแพทย์หากมีอาการเกิดอย่างต่อเนื่องจนส่งผลกระทบต่อการนอนหลับหรือมีอาการผิดปกติร่วมด้วย โดยเฉพาะอาการที่ได้กล่าวถึงข้างต้น รวมถึงผู้หญิงที่มีเหงื่อออกในยามค่ำคืน หลังจากเข้าสู่ช่วงหมดประจำเดือนหรือวัยทอง (Menopause) มานานหลายเดือนหรือหลายปี ซึ่งแพทย์จะทำการค้นหาสาเหตุและรักษาอย่างเหมาะสม
เหงื่อออกตอนกลางคืน รับมือยังไงดี
สำหรับคนที่มีเหงื่อออกในตอนกลางคืนนั้น หากไม่ได้ไปพบแพทย์วันนี้เราได้นำข้อควรปฏิบัติมาแนะนำ เพื่อเป็นการลดปัญหาของอาการเหงื่อออก และเพิ่มความสบายในยามหลับ ทั้งยังเพิ่มคุณภาพการนอนหลับให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นแต่จะรับมือด้วยตัวเองอย่างไรนั้นจะพาไปดูดังนี้
- ดื่มน้ำเล็กน้อยในช่วงเวลาเข้านอนแต่ไม่มากเกินไป
- ใช้ปลอกหมอนหรือผ้าปูที่นอนที่มีวัสดุเย็นสบาย เพื่อช่วยรักษาอุณหภูมิร่างกายในระหว่างการนอน
- สวมเสื้อผ้าที่หลวม ๆ บางเบาเพื่อให้ร่างกายรู้สึกสบายขณะนอน
- ออกกำลังกายทุกวัน ไม่ควรหนักเกินไป ทำกิจกรรมที่เหมาะกับความสามารถของตัวเอง
- หลีกเลี่ยงห่มผ้าหนาหรือหนักจนทำให้เคลื่อนไหวได้ยาก
- ฝึกสมาธิ กำหนดลมหายใจก่อนเข้านอน เพื่อช่วยผ่อนคลายจิตใจและร่างกาย
- เปิดพัดลมหรือแอร์ในห้องให้อากาศเย็นสบาย เพื่อช่วยควบคุมอุณหภูมิห้องนอน
- หลีกเลี่ยงอาหารหรือกิจกรรมที่อาจกระตุ้นให้เกิดเหงื่อ เช่น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กาแฟ การรับประทานอาหารรสจัด การสูบบุหรี่ และออกกำลังกายหนัก ๆ ในช่วงเวลาก่อนนอน
เหงื่อออกตอนกลางคืนแบบไหนควรพบแพทย์
ถ้าคุณรู้สึกว่าเหงื่อออกตอนกลางคืนทำให้คุณรู้สึกกังวล ลองสังเกตดูว่าอาการเหล่านี้มีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันหรือไม่ อาจจะมีอาการไม่พึงประสงค์ร่วมด้วย เช่น หากพบว่าอาการนี้เกิดขึ้นบ่อยและมีปัญหาในการนอนหลับ ร่วมกับอาการไข้สูง การลดน้ำหนักที่ไม่ต้องการ ปัญหาทางเดินอาหารที่มีอาการท้องเสีย หรือมีอาการเจ็บหัวนม และมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ที่รุนแรง ควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและวางแผนการรักษาที่เหมาะสมสำหรับอาการเหงื่อออกในตอนกลางคืนของคุณ
แพทย์จะวินิจฉัยอย่างไรเมื่อเหงื่อออกกลางคืน
แพทย์จะเริ่มจากการซักประวัติอาการและข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วย เพื่อหาสาเหตุเบื้องต้นของอาการ จากนั้นอาจสั่งตรวจเพิ่มเติม เช่น
- ตรวจเลือด เพื่อดูระดับน้ำตาล ฮอร์โมน และตรวจหาเชื้อ
- เอกซเรย์ เพื่อค้นหามะเร็งหรือความผิดปกติทางร่างกาย
- ตรวจร่างกายเพิ่มเติม เช่น วัดอุณหภูมิ ฟังเสียงหายใจ ดูผิวหนัง
การตรวจเหล่านี้จะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยและหาสาเหตุของอาการเหงื่อออกได้อย่างถูกต้อง นําไปสู่การรักษาที่เหมาะสมต่อไป
อาการแทรกซ้อนเมื่อเหงื่อออกกลางคืน
อาการเหงื่อออกตอนกลางคืนที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากโรค อาจทำให้ไม่สบายตัวหรือรบกวนการนอนหลับเท่านั้น แต่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย อย่างไรก็ตาม หากอาการเกิดจากโรคประจําตัวหรือภาวะผิดปกติใด ๆ แล้วปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ เช่น วัณโรคอาจทำให้เกิดปัญหาทางปอด หรือแพร่กระจายเชื้อแบคทีเรียในร่างกาย ดังนั้นจึงควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุ และรับการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสมต่อไป
แพทย์จะทำการรักษาอย่างไรเมื่อเหงื่อออกตอนกลางคืน
อาการเหงื่อออกในตอนกลางคืนที่ไม่ได้เกิดจากโรคหรือความผิดปกติ แพทย์อาจแนะนําให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น สวมใส่เสื้อผ้าหลวมๆ เปิดพัดลมระบายอากาศ ลดการดื่มแอลกอฮอล์ คาเฟอีน ฝึกหายใจเพื่อผ่อนคลาย เป็นต้น ส่วนอาการจากโรคหรือความผิดปกติ แพทย์จะรักษาตามสาเหตุ เช่น
- ภาวะหมดประจำเดือนหรือวัยทอง แพทย์อาจให้ฮอร์โมนทดแทน (Hormone Replacement Therapy) เพื่อบรรเทาอาการจากภาวะหมดประจำเดือน
- หากผู้ป่วยมีอาการติดเชื้อ แพทย์อาจใช้ยาปฏิชีวนะ ยาต้านไวรัส หรือยาอื่น ๆ ในการรักษา ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อ
- ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นมะเร็ง แพทย์อาจใช้วิธีการรักษาหลายอย่างร่วมด้วย เช่น การใช้ยาเคมีบำบัดหรือคีโม การผ่าตัด และวิธีอื่น ๆ ตามความเหมาะสม
- กรณีที่ผู้ป่วยใช้ยาบางชนิด แพทย์อาจปรับปริมาณการใช้ยา หรือเลือกให้ยาชนิดอื่นแทน
- หากผู้ป่วยมีการดื่มแอลกอฮอล์ หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงหรือจำกัดปริมาณของเครื่องดื่มดังกล่าว ในคนไข้บางรายแพทย์อาจให้เลิกพฤติกรรมดังกล่าวด้วยการบำบัดหรือใช้ยางบางชนิด
นอกจากนี้แพทย์อาจให้ยาบางชนิดเพิ่มเติม เช่น ยาแก้ซึมเศร้า ยากันชัก หรือยาคลายเครียด เป็นต้น เพื่อเป็นการบรรเทาอาการเหงื่อออกในตอนกลางคืนให้ดีขึ้น
สรุป
การที่คนเรามีเหงื่อออกตอนกลางคืนนั้นถือว่าเป็นเรื่องปกติ แต่หากมีเหงื่อออกมากเกินไปอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคร้าย จึงไม่ควรนิ่งนอนใจ บางคนอาจมองข้ามความผิดปกติเพียงเล็กน้อยของร่างกาย แต่หากเกิดขึ้นบ่อย ๆ การได้เข้าพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำหาสาเหตุและการรักษาก็ควรทำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อรักษาได้อย่างทันท่วงทีหากเกิดเป็นโรคร้ายขึ้นมา และที่คลินิคของเรายังให้คำปรึกษาเรื่องอื่นๆด้านสุขภาพ เช่น ผลข้างเคียงยาคุมฉุกเฉิน การผ่าตัด เสริมความงาม เป็นต้น
Rattinan Team เป็นทีมเขียนบทความสุขภาพที่มีความเชี่ยวชาญในการสร้างเนื้อหาที่มีคุณภาพสูงและเป็นมิตรกับ SEO เพื่อเพิ่มการมองเห็นและการเข้าถึงของเว็บไซต์สุขภาพในผลการค้นหาของ Google ทีมงานของเราประกอบด้วยด้านสุขภาพที่มีการรักษาในหลากหลายสาขา เช่น การแพทย์ การพยาบาล โภชนาการ และการออกกำลังกาย