เอ็นอักเสบ (tendinitis) เป็นโรคที่พบได้บ่อย สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดบริเวณเส้นเอ็นที่มีการอักเสบ มีอาการบวม บางครั้งอาจรู้สึกอุ่น ๆ หรือมีอาการแดงร่วมด้วย ขยับได้ลำบาก บริเวณที่พบบ่อย ได้แก่ หัวไหล่ ข้อศอก ข้อมือ ข้อเข่า และข้อเท้า อาการปวดดังกล่าวอาจกระทบต่อการทำกิจวัตรประจำวัน
สาเหตุ เกิดจากการได้รับบาดเจ็บกะทันหัน หรือเกิดจากการเคลื่อนไหวของเอ็นกล้ามเนื้อบริเวณเดิมซ้ำๆ เป็นเวลานาน ทำให้เอ็นบริเวณที่ถูกใช้งานและตึงขึ้นเรื่อยๆ โดยผู้ที่มีความเสี่ยงต่อเอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ ได้แก่
- ผู้ที่มีอายุมากจะยิ่งมีโอกาสเกิดภาวะเอ็นอักเสบได้มากขึ้น เนื่องจากเอ็นกล้ามเนื้อเริ่มมีความยืดหยุ่นน้อยลง
- มีการเคลื่อนไหวร่างกายบางส่วนผิดท่าบ่อยครั้ง
- เกิดจากการเล่นกีฬาบางชนิดที่เอ็นกล้ามเนื้อต้องทำงานซ้ำๆ เช่น ฟุตบอล ตะกร้อ แบดมินตัน ว่ายน้ำ และวิ่ง
การรักษา เอ็นอักเสบ ด้วยตนเอง
การรักษาภาวะเอ็นอักเสบในเบื้องต้นทำได้ด้วยการหยุดพักกิจกรรมที่ต้องใช้การเคลื่อนไหวของเอ็นบริเวณที่อักเสบจนกว่าจะหายดี รวมถึงการดูแลรักษาด้วยตนเองซึ่งทำได้ดังนี้
- ประคบเย็นด้วยผ้าห่อน้ำแข็งบริเวณที่อักเสบนาน 20 นาที วันละ 3-4 ครั้ง
- ใช้ผ้าพันบริเวณรอบๆ เพื่อรองรับการใช้งานเอ็นกล้ามเนื้อบริเวณนั้น
- พยายามยกส่วนของร่างกายที่มีอาการบาดเจ็บอยู่ในระดับสูง โดยใช้หมอนหนุนเมื่อนั่งหรือนอน
- รับประทานยาแก้ปวดลดอักเสบ หรือทาเจลเย็นเพื่อบรรเทาอาการอักเสบเบื้องต้น
- ป้องกันการบวมของบริเวณที่อักเสบในช่วง 3 วันแรก ด้วยการหลีกเลี่ยงความร้อน เช่น น้ำอุ่น หรือถุงน้ำร้อน รวมทั้งการดื่มแอลกอฮอล์และการนวดบริเวณดังกล่าว
- หลีกเลี่ยงการใช้เอ็นกล้ามเนื้อส่วนที่อักเสบ
โดยปกติแล้วอาการของเอ็นอักเสบส่วนใหญ่ มักจะดีขึ้นเองภายใน 2-3 วัน ด้วยการพักและดูแลรักษาตนเอง แต่หากพบว่ายังคงมีอาการรุนแรงต่อเนื่อง กระทบต่อการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันเป็นเวลานานกว่า 3 วัน หรือคิดว่าเอ็นกล้ามเนื้ออาจฉีกขาด ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย เช่น เส้นเอ็นฉีกขาด กล้ามเนื้อปลายแขนอ่อนแรง เป็นต้น
แพทย์อาจรักษาโดยการฉีดยาบรรเทาอาการปวดลดอักเสบเข้าไปบริเวณรอบๆ เส้นเอ็นที่มีการอักเสบ ซึ่งจะช่วยลดการอักเสบและอาการปวดได้มาก แต่ก็มีข้อจำกัดคือถ้าฉีดบ่อยๆ จะทำให้เส้นเอ็นเกิดการฉีกขาดได้ ร่วมกับการทำกายภาพบำบัด ออกกำลังกายเพื่อยืดกล้ามเนื้อ เพื่อให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นแข็งแรงขึ้น
รักษา เอ็นอักเสบ ด้วยเกล็ดเลือดเข้มข้น (PRP Therapy)
ถ้าอาการดังกล่าวยังไม่ดีขึ้น นอกจากจะสามารถรักษาด้วยการผ่าตัดแล้ว ในปัจจุบันยังมีอีกวิธีที่ช่วยรักษาอาการเส้นเอ็นอักเสบได้ นั่นก็คือ การใช้เกล็ดเลือดเข้มข้น หรือ PRP (PLATELET RICH PLASMA) มาฉีดเข้าไปในบริเวณเส้นเอ็นที่มีการอักเสบอยู่ โดยหลักการของวิธีนี้ก็คือ “เซลล์ซ่อมเซลล์” จะช่วยลดความเสื่อมของเซลล์ ลดการอักเสบ และลดอาการปวด
การฉีด PRP เป็นเทคนิคใหม่ทางการแพทย์และกำลังเป็นที่นิยม ในการนำมาใช้รักษาอาการบาดเจ็บ ของเส้นเอ็น กล้ามเนื้อ กระดูก กระดูกอ่อน โดยแพทย์จะฉีด PRP เข้าสู่จุดที่มีการบาดเจ็บ สามารถช่วยลดอาการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อให้หายจากอาการบาดเจ็บ ลดอาการปวด และยังช่วยให้ฟื้นตัวได้อย่างอย่างรวดเร็วที่สำคัญคือ ไม่เป็นอันตราย ไม่เกิดอาการแพ้ กเนื่องจากเป็นส่วนประกอบจากเลือดของผู้ป่วยเอง
ภายในเกล็ดเลือดประกอบไปด้วยสารที่สำคัญต่อการแข็งตัวของเลือด และ Growth Factor โดยการนำเลือดมาปั่น แล้วฉีดกลับเข้าไปในบริเวณที่มีอาการบาดเจ็บ เกล็ดเลือดจะถูกกระตุ้นให้รวมตัวกันและปล่อยสารที่มีประโยชน์นี้ไปกระตุ้นให้เกิดกระบวนการซ่อมแซม จึงสามารถบรรเทาอาการปวดและส่งเสริมการเร่งฟื้นฟูได้
การบาดเจ็บส่วนเส้นเอ็น ที่สามารถรักษาโดยการฉีด PRP
- เอ็นอักเสบที่ข้อศอกด้านนอก (Tennis Elbow)
- เอ็นอักเสบที่ข้อศอกด้านใน (Golfer’s Elbow)
- เอ็นหน้าเข่าอักเสบ Jumper’s Knee ( Patellar Tendinosis )
- เอ็นร้อยหวายอักเสบ (Achilles Tendinosis)
- รองช้ำ (Plantar Fasciitis)
- เอ็นอักเสบข้อพับเข่าด้านหลัง (Hamstring Tendons)
- เอ็นอักเสบขาหนีบ (Adductor Tendons)
- เอ็นอักเสบสะโพก (Gluteal Tendons)
การเตรียมตัวก่อนฉีด PRP รักษา เอ็นอักเสบ
- งดยาตามที่แพทย์แนะนำ โดยเฉพาะยาแก้ปวดลดการอักเสบกลุ่ม NSAID’s เช่น แอสไพริน (Aspirin), ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) และยาสเตียรอยด์ (Steroid) อย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนการฉีดยา เนื่องจากยาจะส่งผลต่อการทำงานของเกล็ดเลือด ทำให้ประสิทธิภาพในการฉีดลดลง
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และดื่มน้ำมากๆ ตั้งแต่ก่อนฉีด 1 วัน เนื่องจากหากมีภาวะขาดน้ำจะทำให้การดูดเลือดทำได้ยาก
ขั้นตอนการฉีด PRP รักษา เอ็นอักเสบ
- เจาะเลือดผู้ป่วยออกมาประมาณ 20-25 ซีซี
- นำมาปั่นด้วยเครื่องปั่นพิเศษ เพื่อแยกเกล็ดเลือดเข้มข้นออกมา ขั้นตอนการทำ PRP จะเพิ่มคุณสมบัติของเกล็ดเลือดต่อการซ่อมแซมร่างกายเหนือเกล็ดเลือดธรรมดา ซึ่งการเตรียม PRP ที่ถูกต้องเท่านั้น จึงจะได้เกล็ดเลือดที่มีคุณภาพ
- นำกลับไปฉีดให้ผู้ป่วย ในบริเวณเส้นเอ็นกล้ามเนื้อที่มีการอักเสบ
ซึ่งการฉีด PRP จะใช้เวลาทำประมาณ 20-30 นาที ผลข้างเคียงค่อนข้างน้อยเนื่องจากเป็นเลือดของตัวเอง และควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้เกิดการกระทบกระเทือนบริเวณตำแหน่งที่ฉีด
การดูแลหลังการฉีด PRP รักษา เอ็นอักเสบ
หลังฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้นไปแล้ว ยังควรต้องงดยาต้านการอักเสบกลุ่ม NSAID’s และสเตียรอยด์ต่อไป หากมีอาการปวดอาจใช้ยาแก้ปวดพาราเซตามอลหรือใช้การประคบเย็นช่วยลดอาการปวด ซึ่งโดยปกติผู้ป่วยจะมีอาการปวดได้ในช่วง 3 วันแรก แต่หากอาการปวดยังคงอยู่หลังจากวันที่ 3 หลังฉีดยา หรือมีอาการบวมแดงมากขึ้นควรรีบปรึกษาแพทย์
ผลการรักษา เอ็นอักเสบ
- ประสิทธิภาพในการรักษาขึ้นอยู่กับตำแหน่งหรืออวัยวะที่ได้รับบาดเจ็บ หากเป็นกล้ามเนื้ออาจใช้เวลาน้อยกว่ากลุ่มของเส้นเอ็น
- เนื้อเยื่อบาดเจ็บแบบเฉียบพลันจะให้ผลการรักษาที่ดีกว่าการบาดเจ็บเรื้อรัง
- การฉีด PRP ต้องฉีดประมาณ 2-3 ครั้งต่อเส้นเอ็นหรือกล้ามเนื้อที่บาดเจ็บ โดยเว้นระยะห่างกันครั้งละ 1-2 สัปดาห์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์
- ผลการรักษาจะสังเกตเห็นได้ตั้งแต่ระยะเวลา 4-6 สัปดาห์ขึ้นไป
ใครที่ไม่เหมาะสำหรับการรักษาด้วย PRP
- คนที่มีภาวะเกร็ดเลือดต่ำ เกล็ดเลือดผิดปกติ โลหิตจางขั้นรุนแรง
- ติดเชื้อในกระแสเลือด
- มีการติดเชื้อที่ผิวหนังบริเวณที่จะทำหัตถการ
- โรคภูมิต้านทานเนื้อเยื่อของตนเอง (Autoimmune Diseases) ได้แก่ โรค SLE โรครูมาตอยด์
- โรคเก๊าท์
- คนไข้กินยาต้านเกล็ดเลือด หรือยาละลายลิ่มเลือด
- ผู้ที่กำลังป่วยอยู่ควรรักษาตัวให้หายดีก่อนทำ PRP Therapy เพราะอาจมีเชื้อโรคปะปนในกระแสเลือด
- ตั้งครรภ์และให้นมบุตร
รัตตินันท์ เมดิคอล เซ็นเตอร์ ให้บริการด้านความงามและการรักษา โดยทีมแพทย์เฉพาะทางระดับอาจารย์หลากหลายสาขา ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ดูแลให้ปลอดภัยและเพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ได้รับรองมาตรฐานจาก AACI สหรัฐอเมริกา ด้านศูนย์ศัลยกรรมผู้ป่วยนอกแรกเริ่มในเอเชียแปซิฟิก 2 ปีซ้อน รวมถึงรางวัลจาก WhatClinic ด้านบริการลูกค้ายอดเยี่ยมระดับสากล เป็นปีที่4 จากลูกค้ากว่า 30 ประเทศทั่วโลก ที่ให้ความไว้วางใจและใช้บริการอย่างต่อเนื่อง